คาร์บต่ำกับโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ปัจจุบันสูตรอาหารออกมามากมาย ไม่ว่าจะคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันต่ำ พลังงานต่ำ (เมื่อต่ำอย่างหนึ่งจะไปเน้นสูงอย่างอื่น) อาหารสูตรสมดุล อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารสุขภาพหัวใจ ฯลฯ สารพัด ถามว่าอะไรดีกว่ากัน คงไม่มีคำตอบแน่นอนเพราะวัตถุประสงค์การกินอาหารที่ไม่เหมือนกัน คงถามว่าตัวเราเหมาะสมกับอาหารชนิดใดมากกว่ากัน
งานวิจัยเรื่องอาหารออกมาอย่างมากมาย หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมคือ เก็บแบบสอบถามจากกลุ่มการศึกษาที่ทำอยู่แล้ว ถ้ายังจำได้มีการเก็บข้อมูลการกินน้ำหวานและน้ำผลไม้ ในการศึกษาการลดปัจจัยการเกิดอัมพาต พบว่าการกินน้ำหวานน้ำผลไม้มากเกินไปไม่ดี งานวิจัยนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซนจากจีน ทำการศึกษากลุ่มย่อยมาตอบแบบสอบถามสุขภาพอาหาร ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือด ARIC study โดยเลือกใช้แบบสอบถามอาหารจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (แหม..ตรงนี้น่าคิดนะ เพราะแบบสอบถามที่ใช้ในแต่ละการศึกษามันไม่ค่อยตรงกัน) ในคน 13,000 กว่าคน และติดตามไปสองปี เขาสนใจอะไร
นักวิจัยสนใจว่าการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำจะส่งผลต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะไหม ด้วยข้อมูลทางทฤษฎีว่ากลุ่มคนที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำมากจะขาดเกลือแร่และวิตามินจากผลไม้ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และเมื่อต้องไปกินโปรตีนและไขมันมากขึ้นเพื่อชดเชยคาร์โบไฮเดรตจะเกิดการอักเสบมากขึ้นหรือไม่ อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำเช่น Atkins' diet, Paleo diet, Ketogenic diet
โดยเขาก็คิดแยกออกมาว่าถ้าคาร์บต่ำ (น้อยกว่า 44.8% ของพลังงานรวม) หรือคาร์บสูง (เกิน 52.4% ของพลังงานรวม) และคิดแยกตัวแปรต่าง ๆ ละเอียดยิบ ว่าถ้าเป็นโปรตีนจากสัตว์จะเกิดไหม โปรตีนจากพืชจะเกิดมากกว่าไหม ขึ้นกับพลังงานรวม โรคร่วม หรือเพศ ... และอื่น ๆ อีก
โดยเขาก็คิดแยกออกมาว่าถ้าคาร์บต่ำ (น้อยกว่า 44.8% ของพลังงานรวม) หรือคาร์บสูง (เกิน 52.4% ของพลังงานรวม) และคิดแยกตัวแปรต่าง ๆ ละเอียดยิบ ว่าถ้าเป็นโปรตีนจากสัตว์จะเกิดไหม โปรตีนจากพืชจะเกิดมากกว่าไหม ขึ้นกับพลังงานรวม โรคร่วม หรือเพศ ... และอื่น ๆ อีก
ผลออกมาว่า ผู้ที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมีโอกาสเกิด atrial fibrillation มากกว่ากลุ่มที่กินปานกลางและกินมากประมาณ 20-30% และความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะปรับตัวแปรอย่างไรก็ประมาณนี้ หมายความว่า คาร์บต่ำไม่ดีหรือ ไม่ใช่นะ ...ฟังต่อ
จากการศึกษา ARIC นี้ก็จะพบว่าหากกินคาร์บมากเกินไป ก็จะพบโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นด้วย เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า U curve คือกินมากไปก็ไม่ดี กินน้อยไปก็ไม่ดี สัดส่วนที่กินปานกลางคือประมาณ 50-55% จะเกิดโรคหลอดเลือดน้อยสุด
แล้วแปลว่าอย่างไร
1.อาหารคาร์บต่ำอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องพิจารณาโอกาสเกิดโรคด้วย หากความเสี่ยงสูงเช่น เบาหวานชนิดที่หนึ่ง กินยาที่อาจเกิดคีโตสิส หรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด คงไม่เหมาะ ใครจะกินอาหารแบบใดพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับ
2.ข้อมูลของ balanced diet ยังหนักแน่นในเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการลดน้ำหนักตัวอาจไม่ลดมากเท่า Atkins หรือ Ketogenic แต่หากมองผลโดยรวมภาพรวมยังมีข้อมูลสนับสนุนเรื่องลดอัตราการเสียชีวิตโรคหัวใจมากกว่า
3.อันนี้ ย้ำเอง ย้ำหลายครั้งแล้ว อาหารสูตรใดก็ลดน้ำหนักได้ดีพอ ๆ กัน และโยโย่พอ ๆ กัน หลักการคือพลังงานที่กินต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้และสะสม อดทนกินอาหารแบบควบคุมพลังงานนานพอ และออกกำลังกายร่วมด้วยเสมอ ต้องมีการออกกำลังกายแบบเสริมกล้ามเนื้อด้วยจะดีมาก ไม่โหมลดน้ำหนักมากเกินไป แค่ปีละ 5-6 กิโลกรัมก็พอ
ที่มา
1. Zhuang, X., Zhang, S., Zhou, H., Du, Z., & Liao, X. (2019). U-SHAPED RELATIONSHIP BETWEEN CARBOHYDRATE INTAKE PROPORTION AND INCIDENT ATRIAL FIBRILLATION. Journal of the American College of Cardiology, 73(9), 4.
2. Atherosclerosis Risk in Communities (ARIC)
1. Zhuang, X., Zhang, S., Zhou, H., Du, Z., & Liao, X. (2019). U-SHAPED RELATIONSHIP BETWEEN CARBOHYDRATE INTAKE PROPORTION AND INCIDENT ATRIAL FIBRILLATION. Journal of the American College of Cardiology, 73(9), 4.
2. Atherosclerosis Risk in Communities (ARIC)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น