26 มิถุนายน 2562

acute encephalitic syndrome (AES) กับลิ้นจี่

รายงานข่าวที่เกิดขึ้นหลายครั้งในระยะหลายปีมานี้ และจากหลายสำนักข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับ "ลิ้นจี่มหาภัย" มาติดตามกัน
รายงานข่าวจาก CNN เด็กกว่า 100 คนที่ป่วยมีภาวะ acute encephalitic syndrome (AES) และเสียชีวิต 47 คน อาการไข้สูง ชัก หมดสติ สับสน ระบบอวัยวะล้มเหลว ที่สำคัญคือทุกรายพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก เหตุเกิด "ซ้ำแล้วหลายครั้ง" ที่รัฐพิหาร ตอนเหนือของอินเดีย สำหรับในปีนี้เกิดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทุกคนมีประวัติสัมพันธ์กับการกินลิ้นจี่
สารเคมีที่อยู่ในลิ้นจี่ชื่อ hypoglycin A เมื่อเข้าสู่ร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกน้ำนมจะแปรเปลี่ยนจนได้สารตัวหนึ่งชื่อ methylcyclopropylglycine (MCPG) สารตัวนี้จะทำให้เอ็นไซม์ที่ใช้ในการหายใจระดับเซลล์ลดลง เอ็นไซม์เหล่านี้มีไว้เพื่อผลิตพลังงาน เวลาที่ร่างกายมีกลูโคสและน้ำตาลไม่เพียงพอจะใช้ในร่างกาย เรียกว่ากระบวนการ gluconeogenesis (gluco = กลูโคส, neo = พระเอกเรื่องเมทริกซ์ ไม่ใช่ .. แปลว่า สร้างขึ้นใหม่, genesis = สร้างขึ้น) นำไขมัน คีโตน โปรตีน ที่ร่างกายสะสมมาแปรสภาพเป็นแหล่งพลังงานให้เซลล์ หากกระบวนการนี้บกพร่อง จะทำให้ร่างกายไม่สามารถแปรรูปสารอื่นไปเป็นพลังงานให้เซลล์ได้
หมายความว่า หากกินลิ้นจี่เข้าไป และ ร่างกายต้องการสร้างพลังงานจากกระบวนการ gluconeogenesis จะไม่สามารถทำได้ จนทำให้เกิดอันตราย
ตกลงเกิดจากอะไรกันแน่ สารอันตรายในลิ้นจี่อย่างเดียวเองหรือ
เรื่องสารอันตรายนี้ มีหลายการศึกษาพิสูจน์แล้วว่ามีจริงในลิ้นจี่ โดยเฉพาะลิ้นจี่ที่ไม่สุกดี การศึกษาหลายชิ้นเช่นกันที่พิสูจน์ใน "สัตว์ทดลอง" ว่าส่งผลทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำมากจริง สำหรับในคนมีการศึกษาแบบ case-control ลงตีพิมพ์ใน Lancet Global Health 2017 ติดตามเด็กที่ป่วย acute encephalitic syndrome ในอินเดียในรัฐพิหาร ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2014 พบว่ากลุ่มที่เป็นโรคมีประวัติกินลิ้นจี่มากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นโรคถึง 9.6 เท่า ในคนที่เป็นโรคตรวจพบสาร hypoglycin A และ MCPG ถึง 66% มากกว่ากลุ่มที่ไม่เป็นโรคที่พบ 0%
สาร MCPG คงสัมพันธ์กับการเกิดโรคแน่ ๆ แต่สิ่งที่พบมีมากกว่านั้น
จาก Lancet ฉบับนั้นเราพบว่า คนที่เป็นโรคไม่ได้กินอะไรเลยก่อนหน้าจะเกิดโรค มากกว่ากลุ่มไม่เป็นโรคถึง 2.2 เท่า มันจะสัมพันธ์กับความจริงทางชีวเคมีที่ว่า จะเกิดเรื่องเมื่อร่างกายต้องการพลังงานจนต้องเอาพลังงานสำรองมาเก็บหรือไม่ ทำไมมักจะเกิดโรคในคนที่ไม่ได้กินอาหารและกินแต่ลิ้นจี่
รัฐพิหาร เป็นรัฐที่มีปัญหาความยากจนของประชากรและปัญหาทุพโภชนาการสูงมาก เด็ก ๆ ขาดสารอาหาร แม้แต่น้ำสะอาดจะดื่ม และเมื่อมาถึงช่วงเดือน พฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี ที่รัฐพิหารนี้นอกจากจะมีอุณหภูมิสุดโหดไปถึง 45 องศาเซลเซียส แดดเปรี้ยง ร้อนจัด ยังมีอีกสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐนี้
ใช่แล้ว คือฤดูการเก็บเกี่ยวลิ้นจี่ของรัฐพิหาร พืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของรัฐพิหารและ 74% ของผลผลิตลิ้นจี่ทั้งอินเดียมาจากรัฐพิหารนี้เอง ทุกสิ่งทุกอย่างของชาวบ้านถูกเดิมพันด้วยการเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ของปี ช่วงที่ร้อนที่สุด ต้องการแรงงานมากที่สุด ที่แย่คือ เป็นแรงงานที่ขาดสารอาหาร พลังงานสำรองในร่างกายต่ำมากเพราะอดอาหารมาหลายปี ยังจะต้องอดตาหลับขับตานอน อดอาหารเพื่อเร่งทำตัวเลขผลผลิต เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กที่ขาดอาหาร ตากแดดตากลมทำงาน อดข้าวอดน้ำ สิ่งเดียวที่ใกล้มือคือลิ้นจี่ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว ลิ้นจี่ที่ไม่สุก หรือคุณภาพไม่ดี
สมการทั้งหมดลงตัว เด็กขาดอาหาร พลังงานสำรองน้อย เด็กอดอาหารและน้ำ พลังงานที่ต้องใช้ตอนนี้แทบไม่มี ในสภาพอากาศที่ร้อนเป็นพิเศษ และได้รับ MCPG จากลิ้นจี่ปริมาณมาก พลังงานสำรองที่น้อยมากอยู่แล้วยังเอามาใช้ไม่ได้อีก ... เท่ากับ Acute Encephalitic Syndrome
เมื่อพ้นช่วงเดือนมิถุนายน เข้าฤดูมรสุม อากาศเย็นและชุ่มฝน โรคนี้ลดลง เมื่อเก็บเกี่ยวหมด ลิ้นจี่หมด โรคนี้ก็ลดลง เมื่อได้เงินจากการเก็บเกี่ยว มีอาหารกิน โรคนี้ก็ลดลง
นักวิชาการชาวอินเดียหลายท่านให้ความเห็นว่า ไม่ควรไปโทษ MCPG ในลิ้นจี่แต่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ประกอบร่างกันเป็น AES โดยเฉพาะปัญหาทุพโภชนาการและขาดอาหารในอินเดีย
CDC, FAO ได้ออกมาเตือนประชาชนอินเดียในช่วงนี้ของปี แต่ยังมีรายงานทุกปี และมีการป่วยมากมายเสียชีวิตมากมายในรอบทุกสามถึงสี่ปี
ฤา ปัญหาปากท้องประชาชน จะสำคัญน้อยกว่า ลิ้นจี่
ผมยังไม่พบรายงานในไทย (เท่าที่พยายามหา) พวกเรายังสามารถรับประทานลิ้นจี่ได้ตามปรกติ กลัวแต่กินมากไปแล้วจะอ้วนครับ
ที่มา
1.lancet global health VOLUME 5, ISSUE 4, PE458-E466, APRIL 01, 2017
2.Indian Journal of Agricultural Science. 86(3), March 2016
3.MMWR 2015. Jan 30;64(3)
4.Am J Trop Med Hyg. 2017 Sep;97(3):949-57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม