"เหนื่อยไหม วิ่งวนในหัวใจเธอ"
ภาพแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจผู้ป่วยที่เห็นเป็นลักษณะฟันเลื่อย "sawtooth" หรือไม่มี baseline ที่เป็นเส้นตรงของ P wave เห็นเป็นคลื่นต่อเนื่องอัตราเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 300 ครั้งต่อนาที ลักษณะฟันเลื่อยชี้ลงด้านล่าง และมองเห็นลักษณะคลื่นที่เป็น QRS complex คือการบีบตัวของหัวใจห้องล่างที่ช้ากว่าการเต้นหัวใจห้องบน (อัตราเร็วนี้สามารถตรวจจับได้จากการคลำชีพจร) นี่เป็นลักษณะที่พบได้บ่อยและพบมากสุดของหัวใจห้องบนเต้นรัว ที่เรียกว่า atrial flutter (แบบในภาพนี้คือ common or typical atrial flutter)
กลไกการเกิด atrial flutter เกิดจากการไหลหมุนวนของกระแสไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า macro-reentry แทนที่จะเกิดกระแสไฟฟ้าแล้วไปกระตุ้นห้องล่าง แต่นี่หมุนวนจึงทำให้อัตราการเต้นเร็วและสม่ำเสมอ ในจังหวะที่สม่ำเสมอจะส่งกระแสไฟฟ้าลงไปกระตุ้นห้องล่างให้บีบตัวได้ อาจจะเป็นบนสองล่างหนึ่ง บนสามล่างหนึ่ง ส่วนใหญ่จะสม่ำเสมอเท่า ๆ กันไปตลอด
อาการที่พบคือรู้สึกใจสั่น หากชีพจรเร็ว และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจจะมีอันตรายจากอัตราชีพจรที่เร็วมากได้ เช่นหัวใจวาย ความดันโลหิตต่ำ
การรักษาอาการเฉียบพลัน หากเร่งด่วนและเป็นอันตรายจะใช้การช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า (synchronized cardioversion) ใช้เครื่องกระตุกหัวใจช็อกคนไข้ด้วยความแรงประมาณ 50 จูลล์ แรงประมาณถูกผลักตกเตียง แต่ถ้ายังรอได้ จะเลือกใช้ยาที่ชลอการเต้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง (AV nodal blocking agents)
ส่วนการควบคุมระยะยาวใช้การทำลายวงจรหมุนวน ด้วยการใส่สายสวนแล้วใช้คลื่นวิทยุส่งสัญญาณไปเผาทำลายวงจรนั้น (radiofrequency ablation) ถือเป็นการรักษาที่ดีมากจะมีโอกาสหายขาดได้ หากทำไม่ได้ก็เลือกใช้ยาควบคุม อันนี้ต้องปรึกษาแพทย์เป็นกรณีไปครับ
แล้วจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันเหมือน atrial fibrillation หัวใจเต้นใหญ่ไฟกระพริบวิบวับหรือไม่ ก็เพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดนะครับ แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนไปในทางเดียวกันว่าการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเกิดประโยชน์เหมือนดังเช่นใช้ใน atrial fibrillation หลายรายงานพบการว่าเกิด atrial flutter เพิ่มโอกาสเกิด fibrillation ก็จะเพิ่มการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้เช่นกัน การพิจารณาการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจึงให้ปรึกษาข้อดีข้อเสียกับแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
"เจอ A flut วิ่งวนอยู่ในหัวใจ ส่วนความโสด วิ่งหนีเท่าไรไม่พ้น..สักที"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น