01 มิถุนายน 2562

คาร์บต่ำกับโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

คาร์บต่ำกับโอกาสการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ปัจจุบันสูตรอาหารออกมามากมาย ไม่ว่าจะคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันต่ำ พลังงานต่ำ (เมื่อต่ำอย่างหนึ่งจะไปเน้นสูงอย่างอื่น) อาหารสูตรสมดุล อาหารเมดิเตอเรเนียน อาหารสุขภาพหัวใจ ฯลฯ สารพัด ถามว่าอะไรดีกว่ากัน คงไม่มีคำตอบแน่นอนเพราะวัตถุประสงค์การกินอาหารที่ไม่เหมือนกัน คงถามว่าตัวเราเหมาะสมกับอาหารชนิดใดมากกว่ากัน
งานวิจัยเรื่องอาหารออกมาอย่างมากมาย หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมคือ เก็บแบบสอบถามจากกลุ่มการศึกษาที่ทำอยู่แล้ว ถ้ายังจำได้มีการเก็บข้อมูลการกินน้ำหวานและน้ำผลไม้ ในการศึกษาการลดปัจจัยการเกิดอัมพาต พบว่าการกินน้ำหวานน้ำผลไม้มากเกินไปไม่ดี งานวิจัยนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซนจากจีน ทำการศึกษากลุ่มย่อยมาตอบแบบสอบถามสุขภาพอาหาร ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือด ARIC study โดยเลือกใช้แบบสอบถามอาหารจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (แหม..ตรงนี้น่าคิดนะ เพราะแบบสอบถามที่ใช้ในแต่ละการศึกษามันไม่ค่อยตรงกัน) ในคน 13,000 กว่าคน และติดตามไปสองปี เขาสนใจอะไร
นักวิจัยสนใจว่าการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำจะส่งผลต่อการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะไหม ด้วยข้อมูลทางทฤษฎีว่ากลุ่มคนที่กินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำมากจะขาดเกลือแร่และวิตามินจากผลไม้ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และเมื่อต้องไปกินโปรตีนและไขมันมากขึ้นเพื่อชดเชยคาร์โบไฮเดรตจะเกิดการอักเสบมากขึ้นหรือไม่ อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำเช่น Atkins' diet, Paleo diet, Ketogenic diet
โดยเขาก็คิดแยกออกมาว่าถ้าคาร์บต่ำ (น้อยกว่า 44.8% ของพลังงานรวม) หรือคาร์บสูง (เกิน 52.4% ของพลังงานรวม) และคิดแยกตัวแปรต่าง ๆ ละเอียดยิบ ว่าถ้าเป็นโปรตีนจากสัตว์จะเกิดไหม โปรตีนจากพืชจะเกิดมากกว่าไหม ขึ้นกับพลังงานรวม โรคร่วม หรือเพศ ... และอื่น ๆ อีก
ผลออกมาว่า ผู้ที่กินคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมีโอกาสเกิด atrial fibrillation มากกว่ากลุ่มที่กินปานกลางและกินมากประมาณ 20-30% และความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะปรับตัวแปรอย่างไรก็ประมาณนี้ หมายความว่า คาร์บต่ำไม่ดีหรือ ไม่ใช่นะ ...ฟังต่อ
จากการศึกษา ARIC นี้ก็จะพบว่าหากกินคาร์บมากเกินไป ก็จะพบโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นด้วย เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า U curve คือกินมากไปก็ไม่ดี กินน้อยไปก็ไม่ดี สัดส่วนที่กินปานกลางคือประมาณ 50-55% จะเกิดโรคหลอดเลือดน้อยสุด
แล้วแปลว่าอย่างไร
1.อาหารคาร์บต่ำอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องพิจารณาโอกาสเกิดโรคด้วย หากความเสี่ยงสูงเช่น เบาหวานชนิดที่หนึ่ง กินยาที่อาจเกิดคีโตสิส หรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด คงไม่เหมาะ ใครจะกินอาหารแบบใดพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะครับ
2.ข้อมูลของ balanced diet ยังหนักแน่นในเรื่องการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนการลดน้ำหนักตัวอาจไม่ลดมากเท่า Atkins หรือ Ketogenic แต่หากมองผลโดยรวมภาพรวมยังมีข้อมูลสนับสนุนเรื่องลดอัตราการเสียชีวิตโรคหัวใจมากกว่า
3.อันนี้ ย้ำเอง ย้ำหลายครั้งแล้ว อาหารสูตรใดก็ลดน้ำหนักได้ดีพอ ๆ กัน และโยโย่พอ ๆ กัน หลักการคือพลังงานที่กินต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้และสะสม อดทนกินอาหารแบบควบคุมพลังงานนานพอ และออกกำลังกายร่วมด้วยเสมอ ต้องมีการออกกำลังกายแบบเสริมกล้ามเนื้อด้วยจะดีมาก ไม่โหมลดน้ำหนักมากเกินไป แค่ปีละ 5-6 กิโลกรัมก็พอ
ที่มา
1. Zhuang, X., Zhang, S., Zhou, H., Du, Z., & Liao, X. (2019). U-SHAPED RELATIONSHIP BETWEEN CARBOHYDRATE INTAKE PROPORTION AND INCIDENT ATRIAL FIBRILLATION. Journal of the American College of Cardiology, 73(9), 4.
2. Atherosclerosis Risk in Communities (ARIC)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น