เราคงเคยได้ยินว่ายาลดกรดสามารถลดโอกาสการเกิดเลือดออกทางเดินอาหารในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดโดยเฉาพะแอสไพรินได้ ตอนนี้เรามีข้อมูลเพิ่มขึ้นว่ายาลดกรดอาจช่วยลดโอกาสเข้ารับการรักษาโรคเลือดออกทางเดินอาหารได้ด้วย หากผู้ป่วยได้รับยากันเลือดแข็ง
มีการศึกษาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลังในอเมริกา (เป็นเก็บข้อมูลย้อนหลังจึงต้องฟังหูไว้หูนะครับ) เพื่อศึกษาว่าในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) และยากลุ่มเดิมคือ warfarin นั้น จะมีเลือดออกทางเดินอาหารจนต้องเข้ารับการรักษามากน้อยเพียงใด เปรียบเทียบระหว่างได้รับยาลดกรด PPI กลุ่ม -prazole ทั้งหลายกับไม่ได้ยา
เก็บข้อมูล 1.6 ล้านคนที่ได้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ส่วนมากคือกินเพื่อป้องกันอัมพาตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เก็บย้อนหลัง 5 ปี ตัวเลขกลุ่มที่ได้รับยาลดกรดร่วมกับยาต้านการแข็งตัวเลือดน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับยาลดกรดประมาณ 2/3 สิ่งที่เราได้ข้อมูลมาคือ
ยาที่มีส่วนการเกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากที่สุดคือ rivaroxaban เชื่อว่าเกิดจากการที่กินยาวันละครั้งและมีจุดที่ยาออกฤทธิ์สูงสุดซึ่งสูงมาก จุดนี้อาจเกิดเลือดออก ก็ตรงกันในหลายการศึกษา ส่วนยาที่มีสัดส่วนเลือดออกน้อยที่สุดคือ apixaban
แต่เมื่อใช้ยาลดกรด PPI ร่วมด้วยจะพบว่าอัตราการเข้ารับการรักษาเนื่องจากเลือดออกในทางเดินอาหารลดลงมากในยาทั้งหมดทุกตัว โอเคกลุ่มที่เสี่ยงเลือดออกน้อย ๆ อาจไม่เห็นผลที่ชัดเจนเพราะเสื่ยงน้อยอยู่แล้วแต่ในกลุ่มที่เสี่ยงมากนี่อัตราการเกิดเลือดออกลดลงมาก ๆ เลย อันนี้รวมยากลุ่มเดิมคือ warfarin ด้วย และยาที่ได้รับประโยชน์จากการใส่ยาลดกรดเข้าไปมากที่สุดคือยาต้านการแข็งตัวที่ชื่อ dabigatran เพราะตัวยา dabigatran มีการผสมกรด tataric เข้าไปในเม็ดยาเพื่อให้ยาสามารถทำงานในสถาวะกรดได้ดี ตัวกรด tartaric จะมีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะได้ การใช้ยาลดกรดจึงไปลดอาการต่าง ๆสำหรับยาตัวนี้ได้ดีโดยที่ประสิทธิภาพไม่ลดลง
สรุปว่าในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดก็ให้ใช้เถอะ เพราะอัตราการเกิดเลือดออกจนต้องเข้าโรงพยาบาลมันไม่ได้สูงเลยเรียกว่าประโยชน์มากกว่าโทษ และถ้ากังวลเรื่องเลือดออกทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงอาจใช้ยาลดกรดร่วมด้วยได้ (การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาย้อนหลังมีตัวแปรปรวนและความไม่แน่นอนสูง แต่เป็นสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น)
อ่านฉบับเต็มได้ฟรีที่นี่
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2717474
Ray WA, Chung CP, Murray KT, et al. Association of Oral Anticoagulants and Proton Pump Inhibitor Cotherapy With Hospitalization for Upper Gastrointestinal Tract Bleeding. JAMA. 2018;320(21):2221–2230. doi:10.1001/jama.2018.17242
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2717474
Ray WA, Chung CP, Murray KT, et al. Association of Oral Anticoagulants and Proton Pump Inhibitor Cotherapy With Hospitalization for Upper Gastrointestinal Tract Bleeding. JAMA. 2018;320(21):2221–2230. doi:10.1001/jama.2018.17242
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น