ตกลงน้ำมันปลา (Fish Oils) ยังใช้อยู่ไหม ตามหลักฐานการศึกษาล่าสุด 2018 เรามาสรุปความเข้าใจเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับเรื่องน้ำมันปลาและข้อแนะนำปัจจุบัน ยาวหน่อย 13 ข้อแต่ถ้าอ่านจบจะเข้าใจดี
1. น้ำมันปลา ไม่ใช่น้ำมันตับปลา น้ำมันปลามีมากในปลาทะเลชุ่มน้ำมัน ปลาน้ำจืดก็มีเช่นกันแต่ปริมาณไม่มากเท่า ร่างกายสามารถสังเคราะห์ EPA และ DHA ได้ แต่ในปริมาณปรกติ หากจะกินเพื่อหวังผลทางยาคงต้องใช้น้ำมันปลาสังเคราะห์
2. น้ำมันปลาที่แนะนำตามที่สมาคมโรคหัวใจและคำแนะนำทางโภชนาการ แนะนำให้ได้รับน้ำมันปลาจากอาหาร คือ ปลาทะเล ประมาณ 3-4 ออนซ์ต่อครั้ง อย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง ปัจจุบันสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาไม่แนะนำใช้น้ำมันปลาแบบเป็นเม็ดยาเพื่อปกป้องหัวใจอีกต่อไป และ european medical agency ก็ประกาศ ยกเลิกใช้น้ำมันปลาที่เป็นเม็ดยาเพื่อวัตถุประสงค์ปกป้องหัวใจและหลอดเลือด
3. การกินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ ซึ่งตามข้อบ่งชี้ก็จะเหลืออีกแค่ข้อเดียวคือใช้เพื่อการรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (สำหรับเม็ดยานะครับ การกินน้ำมันปลาจากอาหารยังกินต่อไป)
4. มีอะไรในน้ำมันปลา น้ำมันปลามีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่เป้าที่เราพูดกันนี้คือกรดไขมันไม่อิ่มตัว โอเมก้าสาม ที่ในอดีตเรามีข้อมูลว่ามันช่วยต้านการอักเสบรวมถึงมีประโยชน์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
5. น้ำมันปลาที่วางขายทั้งเป็นยาและอาหารเสริมจะมีสัดส่วนไขมัน EPA และ DHA ที่แตกต่างกัน ยาเม็ดน้ำมันปลาที่ใช้ในการศึกษาต่าง ๆ จะเป็นน้ำมันปลาโอเมก้าสามที่มีสัดส่วน EPA 840 มิลลิกรัมและ DHA 460 มิลลิกรัม (เรียกว่าน้ำมันปลาโอเมก้าสามหนึ่งกรัม) ส่วนน้ำมันปลาที่วางขายเป็นอาหารเสริมโดยมากจะมีสัดส่วน EPA 180 มิลลิกรัมและ DHA 120 มิลลิกรัม
6. การศึกษาโอเมก้าสามที่อ้างถึงประโยชน์แบบต่าง ๆ จะมีสัดส่วน EPA/DHA ที่แตกต่างกัน เวลาพิจารณาประโยชน์จากการศึกษาใด ต้องดูสัดส่วนนี้ด้วยนะครับ จะอ้างข้ามกลุ่มไม่ได้ครับ
7. ในอดีต มีสมมติฐานเรื่องการจัดการไตรกลีเซอไรด์บางชนิดบางโมเลกุลที่ทำให้โรคหัวใจดีขึ้น มีการศึกษาชื่อ GISSI-P และ GISSI-HF ใช้โอเมก้าสามสัดส่วนคงที่ที่เรียกว่าน้ำมันปลาหนึ่งกรัม ในผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย) พบว่าลดการเกิดโรคหัวใจซ้ำได้และแนวโน้มลดอัตราการเสียชีวิต
8. จนมีคำแนะนำว่าให้โอเมก้าสามในขนาดหนึ่งกรัมต่อวัน ในผู้ป่วยที่รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้วเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำ แต่คำแนะนำก็แค่ระดับอาจจะให้ก็ได้ น้ำหนักหนักแน่นพอควร ส่วนการกินเพื่อป้องกันโรคก่อนจะเกิดโรคยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่าเกิดประโยชน์
9. เมื่อกลางปีมีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยา Statin อยู่แล้ว มาให้ยาเม็ดโอเมก้าสามแล้วติดตามผลไปพบว่าอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้กินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หรือ พูดภาษาชาวบ้านว่า ไม่ได้ต่างกัน ชื่อการศึกษา ASCEND
10. ส่วนการศึกษาที่ใช้ EPA เดี่ยว ๆ ทั้งการศึกษา JELIS ใช้ EPA 1.8 กรัม หรือล่าสุด REDUCE-IT ใข้ EPA ล้วน ๆ 4 กรัมต่อวัน พบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มไตรกลีเซอไรด์ค่อนสูง (กรุณาดูขนาด EPA ที่ได้นะครับ สูงมาก ไปอ่านข้อ 5 อีกครั้ง)
11. ข้อมูลในเรื่องการป้องกันการเกิดซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเปลี่ยนไปเป็นลดระดับคำแนะนำแล้ว ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ก็เพราะการรักษาใหม่ ๆ ที่ได้ประโยชน์สูงกว่าเกิดขึ้นเร็วมาก เมื่อก่อนไม่มีการรักษาประสิทธิภาพสูงแบบนี้ทำให้การใช้น้ำมันปลาเกิดประโยชน์ แต่เมื่อมีการรักษามาตรฐานในปัจจุบันแล้ว การใส่น้ำมันปลาเพิ่มก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมอีก
12. ส่วนเรื่องการต้านการอักเสบของโอเมก้าสามที่เชื่อกันมากจนสี่ห้าปีก่อนมีสูตรอาหารใส่โอเมก้ากันออกมาเลย ก็ปรากฏว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทางคลินิกที่จะเกิดประโยชน์มากนัก ยังเป็นแค่ข้อมูลในหลอดทดลองมากกว่า อีกประการคือน้ำมันปลาที่สูงเกินอาจมีผลเลือดออกผิดปกติได้ (เอาเข้าจริง ๆ ก็น้อยมากครับ)
*** 13. สรุปว่า ณ ตอนนี้ ไม่มีการใช้ยาเม็ดโอเมก้าสามในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งป้องกันก่อนเกิดโรคและป้องกันการเกิดโรคซ้ำ คงเหลือแต่คำแนะนำการได้น้ำมันปลาจากอาหารเท่านั้น ส่วนข้อบ่งชี้ยาเม็ดโอเมก้าสามที่เหลือคือรักษาไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเมื่อได้ยาอื่นแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ ***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น