26 กรกฎาคม 2560

บริษัทยาให้ทุนวิจัย

คำถามของแฟนเพจสาวสวยท่านหนึ่ง น่าสนใจมาก ... บริษัทยาให้ทุนวิจัย ?
ปัจจุบันเราใช้การวิจัยทางคลินิกเป็นการหาความรู้หลักทางการแพทย์ เมื่อสามารถพิสูจน์เชิงทฤษฎีและในสัตว์ทดลองแล้ว ต่อไปก็ต้องทำวิจัยในคน แค่ขั้นตอนในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ก็ต้องมีการลงทุน ใช้ทรัพยากรทั้งเงิน บุคคล มากมาย
และเมื่อมาทำงานวิจัยในคนที่เรียกว่า clinical trials ซึ่งเป็นองค์ความรู้ปฐมภูมิเลยนั้น ต้องมีทีม มีความรู้ มีความพร้อม มีอุปกรณ์ มีเงินทุน ซึ่งแน่นอนใช้เงินมากมาย แล้วจะหาทรัพยากรเหล่านี้มาจากที่ใดกัน
การวิจัยทางอายุรศาสตร์ก็คงจะต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษา อุปกรณ์การรักษา ยา ซึ่งแน่นอนของพวกนี้ก็จะมีบริษัทที่คิดค้นมาเพื่อจำหน่าย ได้ผลทั้งประชาโลกและของบริษัทเอง บริษัทจึงจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ผลมิฉะนั้นก็จดทะเบียนไม่ได้ หากไม่มีข้อมูลวิจัยดีพอ และถ้าข้อมูลวิจัยไม่มีหรือไม่ดีพอ ความน่าเชื่อถือก็จะลดลง
ข้อบังคับตรงนี้ทำให้บริษัทต้องทำงานวิจัยออกมา คณะกรรมการจริยธรรมของงานวิจัยจะดูแลว่าไม่ผิดระเบียบงานวิจัยในคน และมีคณะกรรมการควบคุมทุกขั้นตอน ทำให้งานวิจัยนั้นแม้จะมีบริษัทยาสนับสนุนทุนวิจัย ก็จะต้องจัดทำอย่างมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน
จะต้องระบุว่าบริษัทสนับสนุนด้านใด เข่นสนับสนุนยาที่ใช้ สนับสนุนยาหลอก สนับสนุนห้องแล็บ สนับสนุนเงินทุน และบริษัทมีส่วนในงานวิจัยหรือไม่ การเก็บข้อมูล การประมวลผล และผู้วิจัยมีรายได้รายรับจากบริษัทใดหรือไม่ แบบใด
ต้องโปร่งใส..ตรวจสอบได้
ถามว่างานวิจัยที่มีทุนของมหาวิทยาลัย ทุนรัฐบาล มีไหม ... มีนะครับ เยอะด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานวิจัยเหล่านั้นจะปลอดประโยชน์ทับซ้อน หรือจะเชื่อได้เป็นกลางเสมอไป การพิจารณาจุดนี้ต้องดูถึงระเบียบวิธีวิจัย ความโน้มเอียงของการศึกษา ยกตัวอย่าง หากมีงานวิจัยโดยหน่วยงานรัฐ ผู้วิจัยอิสระ ทุนสนับสนุนจากรัฐ แต่หากวิธีวิจัยมีความโน้มเอียงว่ายาที่คาดหวังจะได้ประโยชน์ ... อย่างออกหน้าออกตา.. อย่างนี้ก็เชื่อยากเหมือนกันครับ
ความโน้มเอียง ประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้อยู่ที่ทรัพยากรที่สนับสนุนหรือการประกาศว่าสนับสนุน จะต้องพิจารณาเชิงลึกถึงระเบียบวิธีวิจัยและการประมวลผลทางสถิติอีกด้วย
แต่ก็จะเป็นความจริงอย่างหนึ่งเมื่องานวิจัยใดก็ตาม ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากบริษัทที่มีผลรายได้จากการค้า ผู้ฟังย่อมต้องฟังหูไว้หูเสมอ ในส่วนตัวผมจะคิดกลับกับศาลคือ คิดไว้ก่อนว่ามีความโน้มเอียงทับซ้อน จนกว่าจะพิสูจน์ด้วยการอ่านและวิเคราะห์งานวิจัยอย่างถ่องแท้ว่า ไม่มีความทับซ้อนต่อ"ผลการวิจัย" จึงเชื่อสนิทใจครับ ห้ามพิจารณาแค่ผลที่พาดหัวข่าวเด็ดขาด
ยิ่งในยุคปัจจุบันมีการบังคับทำงานวิจัยและเมื่อได้ผลอันจะก่อให้เกิดผลในวงกว้างก็ต้องประกาศด้วย ยกตัวอย่างที่ชัดๆ คือ องค์การอาหารและยาแห่งอเมริกา ประกาศว่ายาเบาหวานที่ออกมาใหม่จะต้องมีผลการศึกษาพิสูจน์ถึงความปลอดภัยต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจึงวางจำหน่ายได้ แน่นอนใครจะผลิตและจำหน่ายยาต้องทำการทดลองแน่นอน ยาอื่นๆก็ถูกเกณฑ์บังคับลักษณะเดียวกันเช่นกัน
สรุปว่า การที่มีการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตเป็นเรื่องผิดกฎหรือไม่ ตอบได้ว่าไม่ผิดนะครับ แต่ผู้อ่าน ผู้ใช้ ผู้เชี่ยวชาญจะต้องมีสติพอที่จะรู้เขา รู้เรา และผู้ควบคุมงานวิจัย คณะกรรมการ บริษัทที่สนับสนุนก็ต้องมีจริยธรรมเช่นกันครับ
เวลาพิจารณาการศึกษาหรือวารสาร นอกจากทักษะการวิจารณ์วิเคราะห์และความรู้ทางสถิติการแพทย์ สิ่งสูงสุดที่ต้องมีคือ...
"สติ และ จริยธรรม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม