29 กรกฎาคม 2560

อัตราค่าสมาชิกของวารสารทางการแพทย์แพงไหม

มีคนถามว่า อัตราค่าสมาชิกของวารสารทางการแพทย์แพงไหม แอดฯเอาวารสารมาจากไหน
วารสารทางการแพทย์เป็นความรู้ที่ใหม่สุด ออกทุกสัปดาห์ แต่เนื่องจากความใหม่ของมันบางทีก็ยังไม่ตกผลึก ไม่สามารถเชื่อถือได้ 100% ดังเช่นตำรา (ซึ่งก็เอาความรู้มาจากวารสารนี่แหละ) เป็นที่รวบรวมการศึกษาใหม่ๆ ที่ผมชอบนำมาเผยแพร่และอ้างอิงบ่อยๆ
วารสารทางการแพทย์ก็ต้องมีความหลากหลายนะครับ จะได้ดึงดูดคนอ่านด้วย สมัยที่ผมรับวารสารเล่ม จะได้เห็นทุกส่วนอ่านเกือบทุกส่วน (มันแพง เอาให้คุ้ม) แต่พอมารับแบบออนไลน์ซึ่งราคาถูกกว่า กดเลือกเนื้อหาที่ต้องการได้บางครั้งก็ไม่ได้อ่านทุกเรื่อง
ในวารสารก็จะคล้ายๆคู่สร้างคู่สมนั่นแหละครับ มีทั้งข่าวคราวทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในสาขาของวารสารนั้นๆ หรือข่าวใหญ่ๆก็จะมีด้วย มีงานวิจัยต้นฉบับที่ตีพิมพ์ที่ถือว่าน่าสนใจที่สุด มีบทบรรณาธิการที่จะวิจารณ์ข่าว วิจารณ์การศึกษาต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในฉบับนี้หรือฉบับก่อน จดหมายถึงบก. เป็นความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เขียนมาวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆในวารสาร มีบทความทบทวนวิชาการ แนวทางการรักษา มีคำถามรูปภาพมาทายกัน มีบทวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญหรือจดหมายจากทางบ้าน
ในฉบับเล่มจะมีโฆษณายา ผลิตภัณฑ์หรืองานประชุมต่างๆด้วย ปัจจุบันผมบอกรับแบบออนไลน์หมดแล้ว ถูกกว่า เร็วกว่า มี pdf เอาไปหากินได้ แถมการสมัครก็ยังได้ภาพสไลด์ การเข้าถึงออฟชั่นต่างๆ เช่น วารสารฉบับเก่า สื่อการสอน หรือ เว็บบอร์ดที่เข้ามาถกกันเรื่องทางวิชาการ
แต่วารสารทางการแพทย์มีมากมาย มีหลายสาขา สาขาเดียวกันก็ยังแยกเรื่องย่อยอีก เช่น มะเร็ง ก็อาจแยกเป็น การรักษา การวินิจฉัย การผ่าตัด พันธุกรรม เป็นเล่มแยกออกไป เรียกว่าแต่ละวันแต่ละสัปดาห์มีออกมาให้เลือกอ่านกันตามความสนใจของแต่ละท่าน
แต่ใครจะไปอ่านหมด..ก็อ่านเฉพาะที่สนใจ อาจติดตามได้จากจดหมายข่าว ทวิตเตอร์ที่จะรายงานเรื่องราวใหม่ๆ ออกมาเสมอ ถ้าเราสนใจก็คลิ๊กไปดูต่อได้ ทวิตเตอร์นี่เป็นการติดตามวารสารหลักของผมเลยนะครับ เร็วมาก มีลิงค์ครบครัน
ข้อสำคัญอีกอย่างคือ impact factor ของแต่ละวารสาร ว่าส่งผลกระทบมากแค่ไหน แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ผลกระทบนั้นหมายถึงว่า มีการอ้างอิงวารสารนั้น หัวเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าวารสารดังก็จะมีคนสนใจมาก impact factor สูง คนก็จะอ่านมาก ผู้วิจัยหรืองานวิจัยต่างๆก็พยายามหาทางมาตีพิมพ์ที่นี่ เพื่อจะมีคนเห็นมาก อ้างอิงมาก ดังมาก เรียกว่าเสือติดปีก ติดไปติดมาทั้งวารสารและงานวิจัยอย่างเช่น NEJM ใครๆก็อ่านใครก็อ้างอิง งานวิจัยหลักจึงพยายามมาตีพิมพ์ที่นี่ให้ได้ สำหรับผู้อ่านก็ดีไป ไม่ต้องไล่ตามว่าเขาจะไปตีพิมพ์ที่ใด บางงานวิจัยเด็ดก็ไม่ได้ลงใน NEJM นะครับ อย่างการศึกษา TRINITY ก็ลงใน Lancet
แต่ไม่ได้หมายความว่า งานวิจัยหรือบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารที่ impact factor สูงจะดีเสมอไปนะครับ และวารสารที่มี impact factor ไม่สูงก็ไม่ได้หมายความว่าไม่น่าอ่านหรือไม่มีใครสนใจ ในบางเรื่องหรือบางสาขาที่ลงลึก ก็จะมีกลุ่มคนที่สนใจหรือเข้าถึงน้อยลง วารสารที่เฉพาะกลุ่มจึงมา impact factor ไม่สูง เช่น กลุ่มคนที่สนใจโรคไตก็เลือกอ่าน kidney international หรือหมอที่สนใจโรคระบบทางเดินหายใจก็เลือกอ่าน chest
บางเรื่องก็เปิดให้อ่านฟรี โหลดฟรี (ส่วนใหญ่มีผู้สนับสนุนครับ) ก็โอกาสทองของพวกเรานั่นเอง
ส่วนตัวผมผูกปีกับกับ NEJM หนึ่งอันตลอดเนื่องจาก การศึกษาใหญ่ๆจะมาลงที่นี่ ตามทันโลกได้เร็ว ราคาไม่แพง เป็นวารสารทางการแพทย์ที่ impact factor สูงที่สุดในโลก และ critical care medicine ที่ใช้บ่อย สนุก ส่วนที่เหลือข้างล่างก็สลับกันบางปีก็ JAMA บางปีก็ Lancet วนๆกันไป เรื่องไหนลงในวารสารที่ปีนั้นเราไม่ได้สมัครก็ซื้อเป็นรายเรื่อง ก็ตกเรื่องละ 500-900 บาท
สำหรับผู้ที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์หรือเป็นสมาชิกห้องสมุดโรงเรียนแพทย์ ให้ติดต่อขอรหัสใช้งาน ที่เขาสมัครในรูปแบบสถาบันให้แล้วครับ
ผมเอาวารสารที่ผมใช้บ่อยๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่างครับ
New England Journal of Medicine $249 (8,288.8 บาท) impact factor 72.406 วารสารที่ออกมาใหม่ๆช่วงที่งานประชุมยังดำเนินอยู่จะฟรี สักหนึ่งถึงสองสัปดาห์ หลังจากนั้นเสียตังค์ ออปชั่นเยอะมาก มีแอปด้วย มีpodcast ครบเครื่อง
Lancet $179 (5,942.8 บาท) impact factor 47.831 แต่ละสาขาย่อยราคาไม่เท่ากันแต่ก็จะถูกกว่านี้ ประมาณ 99-170 US$ หลากหลายเรื่องราวจากทั่วทุกมุมโลก จนต้องแยกย่อยเป็นวารสารสาขา แต่ที่มีผลสุดก็ Lancetตัวหลักนี่แหละ ส่วนบททวนวารสารนี่..เด็ดมาก
Journal of American Medical Associations $340(11,288 บาท) impact factor 37.7 แต่ก็สามารถเข้าถึง JAMA networks ในสาขาต่างๆได้ จ่ายทีเดียวได้ครบเลย แต่ส่วนมากงานจะเป็นงานจากฝั่งอเมริกา แนวทางต่างๆของอเมริกา (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้กันทั้งโลกนั่นแหละ) จะมาลงที่วารสารนี้เป็นหลัก
British Medical Journal. impact factor 20.7 131 ปอนด์ (5,764 บาท) อันนี้เน้นงานจากฝั่งยุโรปและอังกฤษ หลังออกจากอียู งานวิจัยจากทางยุโรปลดลง งานวิจัยที่ลงในนี้ส่วนมากจะเป็นงานที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ทับซ้อน ฝั่งยุโรปและอังกฤษเขาใส่เรื่องความคุ้มค่าคุ้มทุนด้วย แต่ว่ารูปแบบวารสารจะอ่านยากนิดนึงนะครับ
Critical Care Medicine. impact factor 7.05 544$ (18,224 บาท) อันนี้ใช้ในงานที่ทำครับ จะสังเกตว่าแพงก็แพง แถม impact factor ก็แค่เจ็ด เทียบกับ NEJM น้อยกว่าสิบเท่า แต่มันก็จะเฉพาะในด้านที่เราสนใจครับ และได้ออปชั่นต่างๆมากด้วย
Intensive Care Medicine. impact factor 12.015 150 ยูโร (5,895 บาท) อันนี้มาจากฝั่งยุโรปครับ ราคานี้คือได้สมาชิกและสิทธิของ European Society of Intensive Care Medicine ด้วยครับ กุมารแพทย์ก็เข้าร่วมได้ครับ มีส่วนของทั้งอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์และกุมารแพทย์ครับ
Annals of Internal Medicine impact factor 17.202 วารสารนี้ฟรีครับ ด้วยการสนับสนุนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยครับ รับรหัสได้จากหน้าเว็บ RCPT.org ครับ ได้สื่อสารสอนต่างๆด้วย งานส่วนมากเป็นการสังเคราะห์รวมงานวิจัยหลายๆอันที่เรียกว่า meta analysis วารสารนี้จะใช้สถิติที่ซับซ้อนนิดนึงนะครับ อ่านยากกว่าอันอื่นๆ
คู่สร้างคู่สม อ่านมาตั้งแต่อยู่ประถม มีเรื่องราวหลากหลาย ความรัก อาหาร แฉชีวิตบัดชบ เรื่องมหัศจรรย์ต่างแดน เรื่องผี.. และที่สำคัญ ดูดวงแม่น ....มว๊ากกกกก ราคาไม่แพง สั่งมาส่งที่บ้าน (medical journal ยังอ่านไม่หมดและตั้งใจขนาดนี้) อ่านเสร็จไปวางไว้ที่ร้านต่างๆที่พกไปอ่านเลย เผื่อแผ่คนอื่น สำหรับผม อ่านคู่สร้างคู่สมและละครทีวีทางหนังสือพิมพ์เป็นวารสารหลักครับ แหะๆๆ
อ้างอิงอัตราการแลกเปลี่ยนเงิน ณ 27 กรกฎาคม 2560 และค่าสมัครเป็นรายปีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม