11 กรกฎาคม 2560

เชื้อหนองในที่ดื้อยากับการมีเพศสัมพันธ์ทางปากเป็นอย่างไร

ข่าวที่แพร่สะพัดในเรื่องของเชื้อหนองในที่ดื้อยากับการมีเพศสัมพันธ์ทางปากเป็นอย่างไร

เชื้อหนองใน (Neiserria gonorrhea) เป็นเชื้อแบคทีเรียตัวกลมๆน่ารัก ย้อมสีกรัมติดสีแดงที่เรียกว่า กรัมเนกาทีฟ เชื้อชอบอยู่กันเป็นคู่ๆรักกัน มักอยู่ในเซลเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอด ทวารหนัก ติดเชื้อก็โดยสารคัดหลั่งมีเชื้อและรอยแยกเสียดสีกันของร่างกาย ก็มีเพศสัมพันธ์นั่นแหละครับ ใครเขาจะเอาท่อปัสสาวะตัวเองไปสัมผัสช่องคลอดคนอื่นโดยบังเอิญได้
คราวนี้เนื่องจากพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด ก็ยังมีทางปากและทางทวารหนัก เราก็พบเชื้อหนองในที่ปากและลำคอเพิ่มขึ้น พบทางทวารหนักมากขึ้น และที่ร้ายกว่าคือบางส่วนไม่มีอาการ บางคนคิดว่าเป็นติดเชื้อทางเดินปัสสาวะธรรมดาก็ได้รัยยากันอย่างกว้างขวาง

โรคที่เกิดก็ปัสสาวะมีหนองนั่นแหละครับ อาจลุกลามไปที่ท่อไตและไตได้ และในสุภาพสตรีนั้นก็อาจไม่มีอาการหนองชัดๆแบบบุรุษ แต่จะพบข้ออักเสบติดเชื้อจากหนองในได้มากกว่าชาย การรักษาไม่ยากเย็นนักสมัยก่อนยาที่เราใช้มากคือยากลุ่ม fluoroquinolones โดยเฉพาะ ciprofloxacin และ ยากลุ่ม macrolides โดยเฉพาะ azithromycin

แต่ทว่าสถานการณ์ในโลกที่มีการใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างไม่สมเหตุสมผล เหมือนประเทศไทยเลย ทำให้การดื้อยาเพิ่มมากขึ้นจากข้อมูลของ WHO Global Gonococcal Antimicrobial Surveillance Programme (WHO GASP) พบการดื้อยา ciprofloxacin 97% พบการดื้อยา azithromycin 81% และดื้อยากลุ่ม cephalosporin 66% พูดได้ว่าดื้อมากมายมหาศาล

คราวนี้เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เขื้อที่ดื้อยามันก็ไปทางเพศสัมพันธ์เช่นกัน แม้ว่าการสวมถุงยางอนามัยจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์จนหมดได้ การมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยที่อาจจะเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีน้อยกว่าทางช่องคลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะติดเชื้ออย่างอื่นลดลงนะครับ หนองในก็เป็นเชื้อตัวหนึ่งที่ไม่ได้ลดลงเพียงแต่เราอาจติดไม่ถึงหรืออาการไม่ชัด
หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ที่อาจไม่สวมถุงยาง ถุงยางขาดเพราะไม่ได้หล่อลื่น การหล่อลื่นโดยใช้เจลปิโตรเลียมที่อาจทำให้ถุงยางจากลาเท็กซ์ขาดได้ ก็ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันลดลง
การติดเชื้อ..ที่ดื้อยาอยู่แล้ว..จึงกระจายออกไปวงกว้าง

ผมไม่พบตัวข้อมูลที่บอกว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก "ทำให้" เชื้อดื้อยามากขึ้นนะครับ น่าจะเป็นการแพร่เชื้อที่ดื้อยาออกไป "กว้างขึ้น" มากกว่า

แล้วคราวนี้เราจะสู้มันได้ไหม หัวดื้อซะขนาดนี้ ก็ต้องใช้ยาให้สมเหตุสมผล มีการระวังเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น ทางองค์การอนามัยโลกก็สนับสนุนการทำชุดตรวจที่ตรวจได้เร็วและแม่นยำ ..ใครเคยเพาะเชื้อ gonorrhea ก็จะพบว่าวิธีเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจยุ่งยากมาก และถ้าเก็บผิดวิธีเชื้อก็ไม่ขึ้น

รวมทั้งการพัฒนายาที่จะมาสู้กับโรคที่ดื้อยานี้ที่พอจะเห็นรูปร่างหน่วยก้านดี ตามที่องค์การอนามัยโลกคาดไว้ก็มี solithromycin, zoliflidacin, gepotidacin ที่ทั้งสามตัวยังอยู่ในช่วงการพัฒนายา
ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ทางปากอาจไม่ได้เหนี่ยวนำให้ดื้อยา แต่การติดเชื้อดื้อยาและแพร่กระจายเชื้อดื้อยาได้มากขึ้นครับ
บทความจาก WHO

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม