สองวันมานี้เราก็ได้รู้จักการหลับ ยานอนหลับมาพอสมควร มาต่อกันอีกนิด ...
เราเคยท่องมาตั้งแต่เด็กๆแล้วว่านอนให้พอนะ สุขภาพจะดี ดาราฮอลีวู้ดหลายคนก็เปิดเผยว่าการนอนให้พอสำคัญมากสำหรับการักษาสุขภาพและหนังหน้าให้ยืนยงในวงการได้ต่อเนื่อง วันนี้เรามาดูกันหน่อยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยการทดลอง ว่าปริมาณการนอนมันส่งผลจริงๆนะ ... อ๊ะๆ อย่าเพิ่งรูดนิ้วหนี วันนี้ไม่ได้มาอ่านวารสารแบบทางการแพทย์ ผมมาเล่าให้ฟังเฉยๆ ว่ามันมีการทดลองออกมาด้วย
การศึกษานี้ลงตีพิมพ์ใน Journal of American Heart Associations เมื่อเดือนก่อน ทำการศึกษาในศูนย์การนอนหลับ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (มหาวิทยาลัยนี้โด่งดังนะครับ) เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะวิจัยเขาสนใจแบบนี้
เรารู้มาแล้วล่ะว่า การนอนไม่พอ ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกายไม่ค่อยดี ชีพจรเร็ว ฮอร์โมนตึงเครียดสูง ไอ้เจ้าการควบคุมที่ผิดปกตินี้อาจจะส่งผลให้คนที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงที่เรียกว่า "โรคอ้วนลงพุง" หรือ เมตาโบลิก ซินโดรม แล้วถ้านอนน้อยจริงมันส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจริงๆหรือไม่..????
จริงๆก่อนหน้านี้ก็เคยมีการศึกษาออกมาบ้างแล้ว..เพียงแต่ เป็นการสอบถามและวัดด้วยความรู้สึกว่า นอนพอไหม นอนอิ่มไหม แต่คราวนี้วัดเป็นจริงเป็นจังเลย โดยใช้การทดสอบการนอนหลับที่ชื่อว่า polysomnography วัดการหยุดหายใจ การตื่น วัดคลื่นสมองกันเลยทีเดียว
โดยศึกษาในคนอเมริกันอายุประมาณ 40 ปีเป็นสุภาพสตรีเสีย 60% โดยสุ่มสอบถาม ตรวจว่ามีโรคอ้วนลงพุงไหม แล้วมาเข้ารับการตรวจสอบการนอนแค่หนึ่งครั้ง (นี่คือจุดบอดที่ยิ่งใหญ่มาก ทำครั้งเดียวแล้วประทับตราเขาเลย ว่าคนๆนี้นอนพอหรือไม่พอ เกิดหลังจากนี้พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป ผลการศึกษาก็อาจผิดไปจากนี้ตอนวัดผลปลายทาง) ว่านอนพอไหม โดยตัดตัวเลขที่หกชั่วโมง ...ทำไมหกชั่วโมง เพราะก่อนหน้านี้เคยศึกษามาแล้วว่าน้อยกว่านี้ส่งผลต่อร่างกาย ...
เมื่อจัดกลุ่ม ดูเรื่องเกณฑ์อ้วนลงพุง (นี่ก็อีกจุดแปลก เพราะเกณฑ์ในการศึกษานี้ไม่เหมือนกับที่อื่นๆนัก) ว่าเป็นหรือไม่เป็น และจับมาตรวจการนอนว่านอนพอหรือไม่พอ หลังจากนั้นติดตามผลไปช่วงเวลาหนึ่ง ดูสิว่า อัตราการเสียชีวิตต่างกันไหม
ผลออกมาอย่างนี้
1. ถ้าเป็นโรคอ้วนลงพุง (โดยเฉพาะมีน้ำตาลสูงกับความดันสูงด้วย) คนที่นอนน้อยกว่าหกชั่วโมง มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือด สูงกว่าพวกที่นอนมากกว่าหกชั่วโมง และสูงกว่าพวกที่ไม่เป็นโรคอ้วนลงพุง
2. ถ้าเป็นโรคอ้วนลงพุง แล้วนอนมากกว่าหกชั่วโมง อัตราการเสียชีวิตไม่ต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคอ้วนลงพุง...อันนี้แสดงว่า การนอนให้พอมีผลต่ออัตราการเสียชีวิต ถ้าคุณเป็นโรคอ้วนลงพุง กรุณานอนให้พอ
3. ถ้าคุณไม่ได้เป็นโรคอ้วนลงพุง จะนอนมากกว่าหรือน้อยกว่าหกชั่วโมง ไม่มีผลต่ออัตรการเสียชีวิต และ ไม่ต่างกับคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุง..แต่ว่า..นอนพอ
แม้งานวิจัยนี้จะยังมีข้อจำกัดอีกมาก แต่ก็เป็นการศึกษาแรกที่ใช้ข้อมูลจากการวัดที่จับต้องได้ ไม่ได้ใช้ความรู้สึกนอนพอหรือไม่พอ บอกว่าถ้าเป็นโรคอ้วนลงพุงแล้ว และถ้านอนไม่พอด้วย อันนี้จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นนะ
แต่...อย่าเพิ่งดีใจ ท่านที่นอนพอ หรือท่านที่ไม่ได้เป็น ...เพราะยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก และกลไกการเกิดก็ยังไม่ทราบแน่ชัด ที่สำคัญยังไม่รู้ด้วยว่าพวกที่นอนไม่พอแล้วแย่ๆ จับมานอนให้พอ มันจะดีขึ้นไหม...อันนี้ต้องรอต่อไป และการจัดลำดับเป็นดังนี้
..อัตราการเสียชีวิตน้อยสุด ในกลุ่มไม่ได้เป็นโรคและนอนพอ...ชีวิตไฉไล เริ่ด น่าอิจฉา
..อัตราการเสียชีวิตมากขึ้นมานิดนึง ในกลุ่มเป็นโรคแต่นอนพอ.. โอ..การได้นอนเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ
..อัตราการเสียชีวิตมากขึ้นมาอีกหน่อย ในกลุ่มนอนไม่พอแม้ไม่ได้เป็นโรค เราๆท่านๆนี่แหละ พวกอยู่เวรหนัก หมอแล็บแพนด้างี้
..
..แต่ว่าทั้งสามกลุ่มด้านบน ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ชัดเจน เพียงแต่เรียงลำดับได้ต่างกันเล็กน้อย
และอัตราการเสียชีวิตมากสุด แตกต่างจากทั้งสามกลุ่มข้างบนอย่างมีนัยสำคัญ คือเป็นโรคอ้วนลงพุง แถมยังนอนไม่พออีก ..เฮ้ย...ขีวิตแอดมินนี่นา
สรุป...ชีวิตที่นอนไม่พอ ก็เหมือนรูปหล่อแต่ไร้น้ำยา
ใครอยากอ่านตัวเต็มไปที่ http://jaha.ahajournals.org/content/6/5/e005479
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
-
Onycholysis แผ่นเล็บหลุดลอกจากผิวใต้เล็บ โดยลักษณะลอกจากปลายเล็บเข้าหาโคนเล็บ สภาพเล็บเปราะบาง ไม่สมบูรณ์ พอเล็บไม่สมบูรณ์ การตรวจออกซิเจน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น