10 มกราคม 2560

DIABEGG

จากที่ก่อนหน้านี้เราได้ทำ journal club ที่เป็นการรวบรวมการศึกษาไปก็จะเห็นว่าการกินไข่ไม่ได้เพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดแต่อย่างใด แต่การศึกษาก็ยังไม่สรุปแน่ๆในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน วันนี้เรามาดู clinical trials อันหนึ่งเรื่องการกินไข่  การศึกษานี้่ชื่อ the effect of high egg diet on cardiovascular risk factors in people wit type 2 DM   ลงตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ปี 2015
   เป็นการศึกษาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อตอบคำถามถึงความเสี่ยงโรคหัวใจ ในคนที่เป็นเบาหวานแล้วต้องกินไข่มากๆ  คือในออสเตรเลียเขาไม่แนะนำเกิน 6 ฟองต่อสัปดาห์ ในขณะที่ยุโรปกับอเมริกาเลิกสนใจโคเลสเตอรอลในไข่ไปแล้ว หันไปสนใจไขมันอิ่มตัวแทน เพราะแม้ไข่จะมีโคเลสเตอรอลสูงแต่สารอาหารอย่างอื่นมันก็มากพอที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้นได้   การศึกษาที่ทำในคนปกติได้ตอบคำถามแล้วว่ากินไข่แล้วไม่มีผลต่อโรคหลอดเลือด แล้วในคนที่เป็นเบาหวานล่ะ ?

    การศึกษานี้เป็นการทดลอง คือ randomized controlled trial นำคนที่เป็นเบาหวานหรือระยะก่อนเป็นเบาหวาน (คือน้ำตาลสูงกว่าปกติแต่ยังไม่เกิน 126) ที่น้ำหนักตัวมาก แต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจมาแบ่งทำการทดลองให้กินอาหารที่มีไข่มากกับกินอาหารที่มีไข่น้อย มาเทียบกันว่ากลุ่มที่กินไข่มากๆจะเกิดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าหรือไม่ การศึกษานี้ใช้กลุ่มตัวอย่างที่เสี่ยงไม่มากนัก น้ำตาลเฉลี่ย HbA1c น้อยกว่า 9.5  ไม่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ และถ้าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงในช่วงที่ทำการศึกษา เช่น ต้องผ่าตัด วางแผนเลิกเหล้า เขาไม่เอาเข้ามาศึกษาเพราะทำให้แปรปรวนได้

  ด้วยลักษณะงานวิจัยที่ค่อนข้างเคร่งครัด ตัดตัวแปรอื่นๆเกือบหมด และพยายามที่จะไม่เอาคนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงชิวิตในช่วงการศึกษามาทำ  จึงทำให้การศึกษานี้อาจไม่ตรงกับชีวิตจริงๆนัก อาจจะเป็นการศึกษาเพื่อ พิสูจน์ทฤษฎีแนวคิดว่ากินไข่ได้เท่านั้น  การคำนวณกลุ่มตัวอย่างออกมาได้ 110 คน (ยอมรับ drop out 10%) จึงได้กลุ่มการศึกษามาแค่ 140 คน (พอมาดูว่ากลุ่มประชากรนี้จะน้อยมากๆ อาจไม่สามารถเป็นตัวแทนในโลกแห่งความจริงได้เลย) และใช้ระยะเวลาการศึกษาแค่สามเดือน  ส่วนตัวผมคิดว่าที่น่าจะเป็นจุดด้อยสำคัญของการศึกษานี้ ระยะเวลาสามเดือนคิดว่าคงยังไม่สามารถบอกการเกิดโรคหลอดเลือดในคนที่เสี่ยงต่ำๆได้ คนที่เสี่ยงสูงๆยังยากเลยนะครับ แต่ก็ยอมรับว่าเขากล้าที่จะทำ เพราะต้องควบคุมตัวแปรต่างๆมากมาย

  กลุ่มที่กินไข่มากๆ คือทำอาหารที่ประกอบด้วยไข่ 2 ฟองต่อวัน ส่วนกลุ่มที่กินไข่น้อยคือ ใช้ไข่ประกอบอาหารไม่เกิน 2 ฟองต่อสัปดาห์  สังเกตว่าเอาไข่มาประกอบอาหารนะครับ ไม่ได้เอามาต้มให้กินตรงๆ โดยกลุ่มที่กินไข่น้อยๆจะมีการเสริมอาหารโปรตีนให้ครบถ้วน มีการแจกคู่มือการทำอาหาร ในกลุ่มที่ต้องกินไข่มากๆก็แจกไข่ให้ และในกลุ่มที่กินไข่น้อยก็จะแจก gift voucher สำหรับไปซื้อของในซุปเปอร์ ในราคา 5 ดอลล่าร์ออสเตรเลียต่อสัปดาห์ (แม้จะมีคู่มือให้ แต่รู้ได้ไงว่าจะไปซื้ออาหารโปรตีน ไม่แอบไปซื้อไอศกรีมเดี๋ยวเรามาดูกัน)

     วัดผลจากอะไร เป็นการวัดผลแบบรวมครับ ทั้งการวัดน้ำหนัก รอบเอว สัญญาณชีพ วัดค่าแล็บได้แก่ น้ำตาล ไขมัน CRP apoB   มีการใช้แบบสอบถามเรื่องการกินการอยู่ การหาวัตถุดิบ ความลำบากในการทำอาหารในสองกลุ่ม  การประเมินอาหารจากนักโภชนาการจากบันทึกของผู้ร่วมการศึกษา  (ผู้ร่วมการศึกษานี่ต้องมีจรรยาบรรณมากๆนะครับ เป็นผมล่ะก็ 5 ดอลล์กลายเป็นสตาร์บัคส์เรียบ)
   ใช้สถิติแบบ intention to treat คือคิดรวมหมด ใครจะออกจากการศึกษาใครไม่ถึงเกณฑ์เอามาคำนวณหมด    แปลกดี เคร่งครัดเรื่องการเลือกกลุ่มขนาดนี้ แต่ตอนวิเคราะห์ไม่มี per protocol    ยอมรับ drop out ไม่เกิน 10% ซึ่งการศึกษานี้ได้ 9% คำนวณความแตกต่างทางสถิติตั้งพื้นฐานการคำนวณที่ความแตกต่างกันของค่า HDL ทั้งสองกลุ่ม

   มาดูผลการศึกษากัน  ส่วนมากก็ผู้ชายอ้วนๆ มากกว่าผู้หญิง ค่าดัชนีมวลกายประมาณ 33 ..อ้วนเลยนะครับ..มีคนเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่มีความผิดปกติก่อนเบาหวาน (ระยะก่อนเบาหวาน) เป็นเบาหวานมา 5-7 ปี คุมน้ำตาลได้ดี คุมความดันได้ดี  กลุ่มที่กินไข่มากจะมีคนที่ระดับไขมันโคเลสเตอรอลและ LDL สูงกว่าเล็กน้อย โดยรวมๆแล้วทั้งสองกลุ่มคือ กินไข่มาก กับ กินไข่น้อย ไม่ได้มีพื้นฐานมี่ต่างกันมากนัก

ข้อสังเกตของผมคือ การศึกษายุคใหม่ แต่กลับมีคนได้รับยาลดไขมันน้อยมากคือแค่ 50% เท่านั้น

  กลุ่มที่กินไข่มากๆนั้นก็ได้ที่ 12 ฟองต่อสัปดาห์จริง ส่วนกินไข่น้อยๆก็ได้ที่ 2 ฟองต่อสัปดาห์   ผลการวัดน้ำหนัก รอบเอว ของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน การวัดค่าสัญญาณชีพไม่ต่างกัน ค่าไขมัน น้ำตาล ทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกันทั้งกลุ่มย่อยที่ต้องปรับยาหรือไม่ต้องปรับยา  สำหรับ HDL ที่เป็นเครื่องมือการกำหนดค่าความแตกต่างก็พบว่า ไม่ต่างกัน  สรุปว่าทั้งสองกลุ่ม กินไข่มากหรือกินไข่น้อย ค่าต่างๆไม่แตกต่างกันเมื่อติดตามไปสามเดือน
   การออกกำลังกาย การใช้ชีวิตเหมือนเดิม จากแบบสอบถามพบว่ากลุ่มที่ใช้ไข่มากกว่ามีความสุขในการกินอาหารมากกว่า..คาดว่าเพราะมีตัวเลือกอาหารมากกว่านั่นเอง..  ปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหารก็ชัดเจน กลุ่มที่กินไข่มากก็จะได้รับโคเลสตอรอลมาก แต่ไม่มีผลต่อระดับไขมันในเลือด อันนี้ก็พิสูจน์ความเชื่อว่าโคเลสเตอรอลในอาหารไม่ส่งผลมากนัก

    เอาล่ะทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน แต่ถ้ามาดูข้อมูลของทั้งสองกลุ่มเทียบก่อนการศึกษากับหลังจากการศึกษาสิ้นสุด พบว่าทั้งสองกลุ่มมีการบริโภคไขมันอิ่มตัวลดลงชัดเจน เพิ่มไขมันตัวดีๆ คือ MUFAs และ PUFAs เข้ามาแทน น่าจะเป็นผลจากการเรียนเรื่องอาหารและได้คู่มือไปทำ...เห็นไหมครับ ใครๆก็สามารถกินอาหารดีได้ สามเดือนก็ทำได้...  การบริโภคอาหารโปรตีน คาร์บ ทำได้ดีขึ้น ไม่กินสะเปะสะปะ อันนี้เป็นผลพลอยได้ที่ดีจริงๆ

  สรุปว่าอย่างไร...สรุปว่า ในคนที่เป็นเบาหวาน การกินไข่มากๆก็ไม่ได้ไปเพิ่ม ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะบ่งชี้โรคหัวใจ  ไม่ได้วัดที่โรคหัวใจโดยตรงนะครับ ซึ่งก็ตรงกับการศึกษาในคนปกติหรือประชากรทั่วๆไปที่มีทั้งเป็นโรคและปลอดโรค โดยรวมแล้วผลการศึกษาไม่ได้ต่างจาก META ANALYSIS ทั้งหลายก่อนหน้านี้มากนัก
  การกินไข่ก็จะลด saturated fat ลง เพราะไข่มีไขมันอื่นๆแลกเปลี่ยนในตัว

ถ้าผมจำไม่ผิด รู้สึกจะมีงานวิจัยลักษณะนี้ในคนไทยด้วยนะครับ ในกลุ่มประชากรที่ไม่เป็นโรค ให้รับประทานไข่แล้ววัด marker ต่างๆเหล่านี้ ผลก็เป็นเหมือนการศึกษานี้ แต่ต้องขออภัยจำชื่อการศึกษาและชื่อผู้วิจัยไม่ได้จริงๆ ถ้าท่านใดรู้จัก บอกผมได้นะครับ จะได้ติดต่อเอามาลงให้อ่านกันบ้าง
..
..แต่พึงระลึกไว้นะครับ การศึกษานี้คัดเลือกคนอย่างมาก ทำให้ external validity ลดลงมากๆ อาจประยุกต์ใช้โดยทั่วไปไม่ได้ ควบคุมตัวแปรหนักๆเคร่งครัดมากๆ เพื่อจะตอบคำถามเรื่องการกินไข่มากและน้อยให้ตรงเป้าที่สุด จึงทำให้ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันยาก
   ระยะเวลาการศึกษาแค่ 3 เดือน เพื่อดู biomarker มากกว่า clinical outcome เวลาสั้นมากจนไม่สามารถแปลผลทางคลินิกได้มากนัก กลุ่มตัวอย่างแม้เป็นไปตามการคำนวณกลุ่มตัวอย่างแต่ก็น้อยมากๆ

  น่าจะเป็นการพิสูจน์แนวคิดว่า เบาหวานก็กินไข่ได้นะ คนออสเตรเลียก็จะได้กินไข่ได้ตามแนวทางสุขภาพอเมริกาและยุโรปได้เช่นกัน
..
..กินไข่แต่พอดีๆ ไม่มีโทษ ไม่ต้องกลัวครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม