18 มกราคม 2560

หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน

หลอดเลือดดำในสมองอุดตัน cerebral venous sinus thrombosis เรื่องนี้เชื่อมโยงมาจากสองเรื่องก่อนหน้า คือ โรค Behcet และ ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากยาวอร์ฟาริน

   ในสมองมีหลอดเลือดดำด้วยหรือ ก็ไม่เชิงเป็นหลอดเลือดดำจริงๆนะครับ เพราะลักษณะทางกายวิภาคไม่ได้เป็นหลอดเลือดดำตามที่พบตามร่างกาย แต่มีลักษณะเป็นช่องทางน้ำไหลมากกว่า คือช่องพับ ช่องรอยต่อตามบริเวณต่างๆของเยื่อหุ้มสมอง จัดเรียงตัวให้เกิดเป็นทางเดินเลือดดำ ลำเลียงคาร์บอนไดออกไซด์และของเหลือใช้ออกจากสมอง ไปสู่หัวใจ ก็พอเรียกว่าหลอดเลือดดำได้ (หลอดเลือดดำ คือ vein แต่หลอดเลือดดำในสมอง คือ dural venous sinus)

   อาการของหลอดเลือดดำอุดตันก็จะต่างจากหลอดเลือดแดงครับ หลอดเลือดแดงก็อย่างที่ทราบกัน อัมพาต คือ หน้าที่การทำงานเสียไป แต่หลอดเลือดดำอาการหลักจะเป็นเลือดคั่ง แรงดันหลอดเลือดดำจะสูงขึ้น ***จึงมีอาการปวดศีรษะรุนแรงเป็นอาการเด่น** โดยเฉพาะถ้ามีอาการของความดันในกะโหลกสูงด้วย เช่น ตามัว อาเจียนโดยไม่คลื่นไส้ และเมื่อตันมากขึ้น แรงดันมากขึ้นก็อาจทำให้เลือดซึมมารอบๆหลอดเลือดดำนั้น ก็จะมีอาการเหมือนหลอดเลือดสมองแตกได้ เช่น ชักเกร็ง ซึม ผิวสมองส่วนนั้นๆทำงานบกพร่อง (หลอดเลือดดำในสมองส่วนใหญ่ชิดติดผิวสมองครับ) และถ้าตันมากไปอีก ความดันสูงมากอีกก็จะไปดันหลอดเลือดแดงครับ ไหลเข้าสมองไม่ได้ ไหลไปบริเวณต่างๆไม่ได้ ก็เปรียบเสมือนหลอดเลือดแดงตีบตันไปด้วยนั่นเอง

  แต่อาการปวดศีรษะเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้คิดถึงหลอดเลือดดำตีบตันไปเสียทุกคน ต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจว่ามีอาการและการตรวจเข้าได้กับแรงดันในกะโหลกสูง และคงต้องตรวจยืนยันโดยการถ่ายภาพสมองและหลอดเลือดในสมอง ปัจจุบันก็ใช้การเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เรียกว่า MRI/MRV เป็นการวินิจฉัยสำคัญ ถ้าไม่มีก็อาจใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองและฉีดสีด้วยเพื่อดูการเข้าออกหลอดเลือดของสีที่ฉีด การใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเพื่อฉีดสี ทำน้อยลงมากๆครับ
  เมื่อได้การวินิจฉัย อาจต้องเจาะตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อแยกโรคสำคัญคือการติดเชื้อและเนื้องอก แรงดันน้ำจะสูงมากนะครับ ประสบการณ์ส่วนตัว เจาะเสร็จจะใส่มานอมิเตอร์วัดความดัน น้ำไขสันหลังพุ่งมาตรงเป้ากางเกง พอดิบพอดี เมื่อใส่มานอมิเตอร์วัดความดันก็สูงมากๆเลยครับ ซึ่งถ้าพบการติดเชื้อหรือสาเหตุอื่นใดก็ต้องรักษาด้วยนะครับ

      นอกเหนือจากประวัติและการตรวจร่างกาย ภาพถ่ายเอกซเรย์จะเข้ากับโรคได้แล้วก็คงต้องพิจารณาความเสี่ยงของการเกิดโรคด้วย  ความเสี่ยงที่สำคัญๆคือ การติดเชื้อระบบประสาทโดยเฉพาะที่เยื่อหุ้มสมองซึ่งติดกับหลอดเลือดดำ ก็จะอักเสบและตันได้ ความเสี่ยงที่สำคัญอีกคือ ยาเม็ดคุมกำเนิด พบว่าในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดดำในสมองตีบตันสัมพันธ์กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

**ไม่ได้หมายความว่า กินยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วจะเกิดทุกคน หรือจะเสี่ยงมากๆจนไม่กินยากัน ต้องเข้าใจว่าโรคนี้เกิดไม่มากและสัดส่วนคนที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดแล้วมีโรคก็ไม่มาก***

 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างคือ ภาวะเลือดดำแข็งตัวมากเกินปกติ โดยทั่วไปเลือดเราจะแข็งเป็นก้อนและสลายลงด้วยสัดส่วนที่เท่ากัน จึงอยู่ได้และสมดุล แต่ถ้าการแข็งตัวมากกว่าการสลายตัวก็จะมีลิ่มเลือดคงค้าง ที่พบบ่อยคือ การขาดสารสลายเลือดในธรรมขาติ คือขาดโปรตีน C และ โปรตีน S การศึกษาในไทยพบการขาดโปรตีนเอส มากที่สุด หรือจากโรคการแข็งตัวเกินเช่น โรคเบเช็ต โรคเลือดแดงแตก PNH โรคเอสแอลอี

   การรักษานั้น แน่นอนต้องให้ยากันเลือดแข็งเริ่มด้วยฉีดยาก่อน คือฉีด low molecular weight heparin และกินยา warfarin ต่อเนื่องรักษาระดับ INR ที่ประมาณ 2.0-3.0
    ใช้ยาประมาณ 6-12 เดือน โดยส่วนมากก็หยุดได้ ยกเว้นมีเหตุผลบางประการที่ต้องกินต่อ  ถ้ามีเลือดออกแทรกซ้อนจากการตีบตัน..คือ ..ตันจนเลือดดันออกมา อันนี้ตามแนวทางก็ยังให้ยากันเลือดแข็งนะครับ เพราะที่ออกมามันออกมาเพราะแรงดันสูง ไม่ได้เกิดจากเลือดออกผิดปกติ …แต่ในความเห็นส่วนตัวต้องคุยกับญาติและคนไข้ดีๆ เรื่องความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้ และถ้ารุนแรงมากจนสมองบวม แรงดันกะโหลกสูงคงต้องผ่าตัด ..อาจต้องรักษาอาการชักที่แทรกซ้อนจากโรคด้วยครับ

   ถ้าความเสียหายไม่รุนแรง ไม่มีเลือดออกมาก หรือ ไม่ได้เป็นอัมพาตนานๆ เมื่อรักษาแล้วมันจะดีขึ้นจนคืนสภาพเดิมได้ครับ

ที่มา : Harrison 19th
        AHA guideline, Stroke, march 2011 http://stroke.ahajournals.org/content/42/4/1158

        Journal of thai stroke society, Sep-Dec 2014
https://thaistrokesociety.files.wordpress.com/2015/01/journal-thai-stroke-society-vol-13-no-3.pdf

  british medical journal ,Jan 2000
http://pmj.bmj.com/content/76/891/12.full

http://thailand.digitaljournals.org/index.php/MNRHMB/article/download/10861/10276

ภาพจาก moore clinical anatomy และ radiopedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม