ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจ … ประโยคที่เป็นความจริงนี้ดูงงๆ
ไม่กี่วันมานี้ทางเพจ ThaiHeart ได้เผยแพร่วารสารที่อธิบายเรื่องนี้ได้ครบถ้วน เข้าใจง่าย เป็นงานเขียนทบทวนวรรณกรรมของแพทย์ไทยที่ได้รัยพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาที่ต่างประเทศ คือ อ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร คณะแพทย์ศิริราชครับ ครั้งแรกผมตั้งใจจะทำเป็น journal club อ่านแบบการแพทย์ แต่เมื่ออ่านเนื้อหาจบแล้ว พบว่ามีค่ามาก บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาบำบัดแทนไต รวมทั้งผู้ป่วย ก็น่าจะทราบด้วยเช่นกัน จึงปรับเนื้อหาให้เหมาะสม ครบถ้วน ไม่ยาวเกินไป ฉบับเต็มออนไลน์นั้นกดอ่านได้จากที่นี่นะครับ
ไม่กี่วันมานี้ทางเพจ ThaiHeart ได้เผยแพร่วารสารที่อธิบายเรื่องนี้ได้ครบถ้วน เข้าใจง่าย เป็นงานเขียนทบทวนวรรณกรรมของแพทย์ไทยที่ได้รัยพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาที่ต่างประเทศ คือ อ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร คณะแพทย์ศิริราชครับ ครั้งแรกผมตั้งใจจะทำเป็น journal club อ่านแบบการแพทย์ แต่เมื่ออ่านเนื้อหาจบแล้ว พบว่ามีค่ามาก บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาบำบัดแทนไต รวมทั้งผู้ป่วย ก็น่าจะทราบด้วยเช่นกัน จึงปรับเนื้อหาให้เหมาะสม ครบถ้วน ไม่ยาวเกินไป ฉบับเต็มออนไลน์นั้นกดอ่านได้จากที่นี่นะครับ
https://drive.google.com/file/d/0B_PWMzVMGveXUXEtUEU2VkZWNm8/view
อัตราการเสียชีวิตของโรคไต 20% ซึ่ง 40% ของจำนวนนี้คือ โรคหัวใจทั้งหลอดเลือดตีบ หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ แม้ว่าการรักษาฟอกเลือดหรือยาที่ใช้ได้ดีเพียงใด แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต มันจะแตกต่างออกไปครับ ใช้การศึกษาแบบคนปกติมาใช้ได้ยาก และที่สำคัญการศึกษาทั้งหลายนั้น มักจะไม่นับรวมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดเข้ามาในกลุ่มการศึกษา ทำให้ข้อมูลส่วนนี้ยังดำมืด
โรคไตทำให้หัวใจแย่ลง ในทำนองเดียวกันโรคหัวใจก็ทำให้ไตแย่ลง หลักๆที่มาเชื่อมกันคือระบบฮอร์โมน รีนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน ที่จะถูกกระตุ้น ผลแห่งการกระตุ้นก็จะมีหลอดเลือดหนา หัวใจหนา บิดเบี้ยว หลอดเลือดที่ไตตีบลง มองภาพรวมจึงพากันแย่ลงแบบเตี้ยอุ้มค่อม การรักษาอันหนึ่งที่ต้องใช้เพื่อลดอัตราตายคือยับยั้งระบบฮอร์โมนนี้ โดยใช้ยากลุ่ม ACEI กลุ่ม..อีปริ้ว หรือ ARB กลุ่ม..ซาทาน และ Aldosterone Antagonist คือ spironolactone มาลดอัตราการตาย ลดการเปลี่ยนแปลงของหัวใจและหลอดเลือด
เพราะเมื่อไตวาย ฮอร์โมนมาก ก็ไปทำให้กล้ามเนื้อหนา บีบตัวไม่ดี เลือดที่เคยพอก็ไม่พอเพราะกล้ามเนื้อหนาต้องการเลือดมาก แถมหลอดเลือดก็ยังหนา มีหินปูนแคลเซียมมาเกาะอีก ส่งเลือดก็ไม่ได้ ก็มีการขาดเลือดอยู่เกือบตลอดเวลา โอกาสจะขาดเลือดฉับพลันก็มากขึ้นด้วย
หลอดเลือดที่หนาตัวจากทั่งฮอร์โมนและสารพิษต่างๆ ก็ทำให้อวัยวะต่างๆขาดเลือดรวมทั้งหัวใจและตัวไตเองด้วย แถมเรื่องหินปูนนิดนึงครับ คือเวลาไตวายมากๆหรือฟอกเลือดนานๆ การควบคุมแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือดจะผิดเพี้ยนหมด (ผลจากฮอร์โมนพาราไทรอยด์) มันจะไปจับตามกล้ามเนื้อหัวใจและผนังหลอดเลือดนี่แหละครับ ไม่ยืดหยุ่น แข็ง เป็นเหตุให้ความดันสูง เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อย หัวใจและไตก็ยิ่งแย่ลง เป็นงูกินหางไปเรื่อยๆ
กระบวนการการฟอกเลือดเองที่ต้องทำเส้น..คือต่อหลอดเลือดดำกับแดงเข้าด้วยกันที่แขน..ใครเคยเห็นเส้นปูดๆที่แขนคนไข้ฟอกเลือด จับดูจะสั่นฟู่ๆๆ เพราะเลือดมันไหลผ่านทางลัด ขนาดจับยังรู้สึก แน่นอน หัวใจก็ได้รับแรงกระทำนี้เต็มๆ เรื้อรังด้วย เส้นทางลัดนี้จะไปกระตุ้นฮอร์โมน รีนิน… อีกหล่ะ แถมไม่พอ ไปกระตุ้นประสาทอัตโนมัติ ที่ไปเร่งการบีบตัว เพิ่มอัตราการบีบตัว เรียกว่าระบบประสาทซิมพาเธทิก หัวใจยิ่งแย่ ใช้มากๆจะวายเอานั่นเอง ..ก็จะมียาที่คอยลดกระแสประสาทเหล่านี้ ยา บีต้าบล็อก กลุ่ม..โอลอล ทั้งหลายครับ
เวลาฟอกเลือด ก็จะมีการเอาน้ำส่วนเกินออกจากหลอดเลือด วูบเลยนะครับ หัวใจก็ต้องรับภาระอีกแล้ว พอน้ำในหลอดเลือดหายไปต้องบีบตัวเพิ่ม และเมื่อน้ำในหลอดเลือดออกไปน้ำจากเนื้อเยื่อทั้งหลายเข้ามาแทนทันที หัวใจรับภาระน้ำมากๆอีกแล้วต้องขยายตัวอีก ทำแบบนี้ซ้ำๆกันนานๆ ร่วมกับอย่างอื่นที่เสื่อมพร้อมกันก็จะหัวใจวายได้
จากที่กล่าวไปเบื้องต้น ก็จะเห็นว่าเมื่อไตเสื่อมนั้น อวัยวะที่ได้รับผลกระทบตลอดคือหัวใจนั่นเอง ทั้งหนาตัว ทั้งพังผืด บีบก็แย่ คลายก็ติด โอกาสขาดเลือดทั้วจากหลอดเลือดเล็กๆ หรือหลอดเลือดใหญ่ๆ เกิดตลอดเวลา และเมื่อขาดเลือดบ่อยๆนานๆ ก็เกิดเต้นผิดจังหวะได้บ่อยๆ สุดท้ายหัวใจก็วายตามไตไปด้วย แต่ไตมีการฟอกเลือดช่วยได้..หัวใจไม่ค่อยมีนะครับ นอกจากใช้ยาที่ว่า ซึ่งก็มีข้อจำกัดในผู้ป่วยไตวายที่ใช้ยามากไม่ได้อีก
ยังไม่นับรวมเกลือแร่ที่ผิดปกติ สารการอักเสบต่างๆที่ผิดปกติไป ซึ่งแม้เราใช้วิธีการฟอกเลือดแบบต่างๆที่สามารถลดของเสีย ปรับสารน้ำได้ดี ก็ยังไม่สามารถลดทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจวายได้ดีนัก แสดงว่ามันมีความซับซ้อนและปัจจัยอื่นๆอีกมาก
การฟอกเลือดทางหน้าท้อง ที่คิดว่าน่าจะดีไม่ทำร้ายหัวใจรุนแรงมาก ผลออกมาก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ
สรุปว่า ในผู้ป่วยไตเสื่อมที่ต้องฟอกเลือดไม่ว่าวิธีใด ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ ให้ยาเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ ติดตามอาการแทรกซ้อนจากโรคหัวใจอยู่เสมอ ไม่สามารถรักษาเพียงชดเชยไตแล้วจะจบสิ้น
การรักษาที่จะลดความเสี่ยง ลดอันตรายต่อหัวใจ ลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมที่ดีที่สุดคือ การเปลี่ยนไตครับ แต่จะมีสักกี่รายที่ได้เปลี่ยนไต
ร่างกายคนเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถแยกส่วนดูแลได้นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น