คำตอบที่แท้จริงอยู่ที่ฉลากโภชนาการข้างขวดนะครับ เอาล่ะ..นั่นก็กำปั้นทุบดินเกินไป พวกเราแสนจะโชคดีที่มีคนทบทวนเรื่องนี้และตอบคำถามได้สมบูรณ์ดีมาก อ.ณิชา สมหล่อ จากจุฬา ได้เขียนบทความเรื่อง "น้ำมันมะพร้าวกับประโยชน์ทางการแพทย์" ลงในวารสารโภชนบำบัด ฉบับ พค.-สค. 2558 มาฟังเรื่องราวกันนะครับ
อย่างแรก น้ำมันมะพร้าว เป็นไขมันอิ่มตัว ปกติไขมันอิ่มตัวจะเป็นไขมันจากสัตว์ มีไม่มากนักที่มาจากพืช ที่ว่าไม่มากก็มีน้ำมันมะพร้าวนี่ด้วยครับ แนวทางการกินในยุคปัจจุบันเราหลีกเลี่ยงการกินไขมันอิ่มตัว ไม่ให้เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้ในแต่ละวัน (นับรวมไขมันทรานส์ด้วย) เพราะพิสูจน์ชัดเจนว่าทำให้เกิดโรคหลอดเลือดมากขึ้น น้ำมันมะพร้าวและอาหารจากน้ำมันมะพร้าว ก็จะมีไขมันอิ่มตัวนี้มากด้วย จึงต้องระมัดระวังมากๆครับ
แต่ว่าไขมันอิ่มตัวก็ยังจำเป็นอยู่บ้าง เพราะจะมีกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสังเคราะห์ไม่ได้ อยู่ในไขมันอิ่มตัว เราจึงต้องกินไขมันอิ่มตัวบ้างแต่ไม่มาก ปกติก็จะได้พอจากอาหารอยู่แล้ว เช่น เนื้อสัตว์ นม ..จึงไม่แนะนำให้ต้องเพิ่ม..
อย่างที่สอง แล้วน้ำมันมะพร้าวมันเป็นมาอย่างไร มะพร้าวหาง่าย ราคาถูกครับ มีกรดไขมันอิ่มตัวที่จำเป็น ที่ใช้ง่ายทางการแพทย์เพื่อเอามารักษาหรือผสมในอาหารทางการแพทย์ คนไข้จะได้ไขมันเพียงพอ นั่นคือ กรดคาไพรลิก (caprylic acid) และ กรดคาปริก (capric acid)
แต่มันไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น เพราะจริงๆแล้วกรดไขมันหลักในน้ำมันมะพร้าวที่วางขายคือ กรดลอริก (lauric acid) เราต้องนำน้ำมันมะพร้าวนั้นมาผ่านกระบวนการก่อนจึงจะได้เป็นกรดคาไพรลิกและกรดคาปริก ไม่ได้ตรงๆจากการใช้น้ำมันมะพร้าวที่วางขายครับ ถ้าเรากินน้ำมันมะพร้าวที่วางขายเราจะได้ กรดคาไพรลิกและคาปริกแค่ 14% ส่วนอาหารทางการแพทย์จะมีเกือบๆ 80% น้ำมันที่เราซื้อนั้นมีกรดลอริก เกือบ50% แต่อาการทางการแพทย์จะมีกรดลอริกน้อยกว่า 3% ครับ
ทำไมถึงเอามาใช้ทางการแพทย์ เพราะกรดไขมันกลุ่มนี้เป็นกลุ่มไขมันสายไม่ยาวมาก เรียกว่า medium chain ที่สามารถดูดซึมได้ง่าย เข้าสู่กระแสเลือดได้ตรงๆจากลำไส้เลย ไม่ต้องผ่านระบยน้ำเหลือง (ไขมันสายยาวต้องดูดซึมผ่านท่อน้ำเหลือง) จึงเอาไปใช้ได้ง่าย เร็ว มักมาใช้ในอาหารทางการแพทย์ครับ
อย่างที่สาม อ๋อ เป็นไขมันที่ดีในอาหารทางการแพทย์ แล้วเอามาใช้เองได้ไหมเขาว่าลดไขมัน จากการศึกษาที่รวบรวมหลายๆการศึกษาของกรดไขมันอิ่มตัว เราพบว่าเจ้ากรดลอริก มีผลต่อการเพิ่มไขมันทั้ง HDL และ LDL เพียงแต่เพิ่ม HDL มากกว่า จึงดูว่าสัดส่วนของไขมันที่ดีมีมากกว่าสัดส่วนไขมันที่ก่อโรค
*** แต่อย่าจับประเด็นนี้เพียงอย่างเดียว มาบอกว่า ดีต่อหัวใจและหลอดเลือด *** ถึงแม้ไขมัน HDL จะดีต่อหัวใจและ ไขมัน LDL จะไม่ดี แต่การศึกษาบอกได้แค่ว่า ไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อมีการใช้กรดลอริก นึกไม่ออกใช่ไหม เอาตัวอย่างแบบนี้ สมมติว่า เราเพิ่มโรงเรียนแพทย์ ผลิตแพทย์เพิ่มได้ เราจะไปแปลความต่อว่าสุขภาพประชาชนจะดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตลดลง ไม่ได้ เพราะเราใช้ตัวแปรอ้อมๆ แค่องค์ประกอบเท่านั้น จะไปแปลต่อไม่ได้ว่าการผลิตแพทย์เพิ่มจะลดอัตราการเสียชีวิตของชาวบ้าน (เพราะมีประเด็นอื่นๆอีกเช่น เมาแล้วขับ..) ถ้าจะวัดก็ต้องวัดตรงๆเช่น ตั้งโรงเรียนแพทย์เพิ่มแล้วดูซิว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรลดลงไหม ห้ามไปแปลความผ่าน..จำนวนแพทย์ที่เพิ่มขึ้น
เหมือนกับกรณีกรดลอริก ที่เพิ่มทั้ง HDL และ LDL โดยเพิ่ม HDL มากกว่า ไปแปลผลว่าโรคหัวใจจะดีขึ้นแบบอ้อมๆแบบนี้ไม่ได้ ต้องศึกษาโดยตรงว่าการใช้กรดลอริกหรือการใช้น้ำมันมะพร้าวจะทำให้โรคหัวใจลดลงไหม ก็ยังไม่มีการศึกษาในคนที่ขนาดใหญ่พอและยาวนานพอที่จะให้คำตอบตรงนี้ได้ มีแต่การศึกษาในสัตว์ทดลองว่าถ้าใช้ น้ำมันมะพร้าวร้อยละ 10 กับใช้น้ำมันมะพร้าวร้อยละ 3 พบว่าสัตว์ที่ใช้น้ำมันมะพร้าวร้อยละ 10 มีไขมันในหลอดเลือดแดงอุดตันมากกว่าอีกกลุ่มถึง 3 เท่า
ทั้งสามประเด็นคงจะพอสรุปได้นะครับว่ายังไม่มีหลักฐานว่าการกินน้ำมันมะพร้าวจะลดโรคหัวใจได้ อาจลดไขมันตัวร้ายได้บ้าง แต่อย่าลืมว่ามันก็คือไขมันอิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวจากอาหารเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอย่างชัดเจนครับ
ส่วนตัวผมก็ให้รับประทานได้แต่ต้องไม่เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งก็ต้องดูไขมันอิ่มตัวตัวอื่นๆที่กินด้วยนะครับ บางทีกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวไปตั้งมากแล้ว พอกินอาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวเพิ่มไป คราวนี้จะเกิน 10% และถ้าดูจริงๆ กินขนมเค้กสักชิ้น ไขมันอิ่มตัวก็เกิน 10% แล้วนะครับ
หวังว่าคงได้คำตอบ เวลาไปเลือกซื้อน้ำมันกันนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น