Sengstaken-Blakemore tube ท่อยางที่ใช้กดเบียดหลอดเลือดที่หลอดอาหารและกระเพาะอาหารส่วนต้น ใช้ในการรักษาหลอดเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพองและแตกออกเฉียบพลัน เรามารู้จักกันนะครับ
หลอดเลือดดำโป่งพองที่หลอดอาหารส่วนปลาย (และรวมกระเพาะอาหารส่วนต้น) เป็นภาวะที่เกิดจากเลือดผ่านตับไม่ได้เพราะตับแข็งหรือแรงดันพอร์ตัลสูงจากสาเหตุใดๆ จึงต้องหาทางกลับเข้าสู่หัวใจทางอื่นเช่นที่หลอดอาหาร แต่หลอดเลือดดำพวกนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมารับแรงดันสูงๆแบบนั้น จึงโป่งออกและแตก เลือดออกมากทีเดียว
ในปี 1950 Robert W. Sengstaken และ Arthur H. Blakemore สองศัลยแพทย์ได้นำเสนอท่อยางที่สอดเข้าไปในหลอดอาหาร และพองออกด้วยลมหรือน้ำให้เป็นลูกโป่ง กดเบียดหลอดเลือดดำให้หยุดไหล หลอดเลือดดำอยู่ที่ผิวหลอดอาหารและกระเพาะเมื่อบอลลูนไปกดเลือดจะหยุด เป็นการห้ามเลือดด้วยการกด ตามมาตรฐานทางศัลยกรรม พร้อมตัวอย่างการใช้ในเลือดออกในผู้ป่วยตับแข็ง
ท่อยางดังกล่าวประกอบด้วยสามท่อเล็กมัดรวมกันท่อแรกยาวๆปลายเปิดที่กระเพาะต่ออกที่ปลายด้านนอก เอาไว้ดูดและระบายเลือดออกรวมทั้งตรวจสอบว่าหยุดหรือไม่ ท่อที่สองเป็นท่อลูกโป่งปลายโป่งออกเมื่อเป่าลมหรือใส่น้ำ ทรงกลมๆอยู่ในกระเพาะเพื่อไปกดกลอดเลือดที่ด้านบนกระเพาะ และเป็นตัวล็อกดึงรั้งกระเพาะเวลาดึงสาย ส่วนท่อที่สามเป็นท่อลูกโป่งเหมือนกันแต่ปลายท่อจะอยู่ที่หลอดอาหารส่วนล่าง ลูกโป่งเป็นทรงกระบอกยาวๆเข้ากับรูปร่างหลอดอาหาร เมื่อเป่าออกก็จะแนบกับหลอดเลือดที่อยู่ที่ผิวหลอดอาหารพอดี
ด้วยการทำ balloon temponade แบบนี้การห้ามเลือดแบบกดตรงๆแบบนี้ทำให้ประสิทธิภาพการห้ามเลือดดีมาก แต่อย่างไรก็ตามนี่ยังเป็นการรักษาตามอาการอยู่ดีครับ ต้องให้ยา ต้องส่องกล้อง ต้องรัดหลอดเลือด หรือผ่าตัดแก้ไขภาวะหลอดเลือดดำในช่องท้องอยู่ดี
อุปกรณ์นี้ควรมีไว้ประจำที่ไอซียูและห้องฉุกเฉินนะครับ แม้ว่าโอกาสใช้จะน้อยและยาปัจจุบันก็คุณภาพดีมากการใส่ท่อชนิดนี้ยังช่วยชีวิตคนไข้มานานกว่า 65 ปี ท่อจะเป็นยางสีแดงๆนะครับ ก่อนจะใส่ท่อนี้นั้นต้องประเมินทางเดินหายใจผู้ป่วยก่อนนะครับ ถ้าเสี่ยงต่อการเกิดสำลักเลือดคงต้องใส่ท่อช่วยหายใจก่อน เมื่อใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว ในจังหวะใส่ท่อ SB tube อาจจะผ่านตรงที่เป็นลูกโป่งของท่อช่วยหายใจยากถ้าเราใส่ลมมากเกินไป
หลังจากเตรียมอุปกรณ์(อย่าลืมตรวจสอบลมรั่วก่อนใช้)และหล่อลื่นท่อแล้ว และนำหล่อลื่นมากๆนะครับ ใส่ท่อเข้าทางจมูกหรือปากคล้ายๆการใส่สายให้อาหาร nasogastric tube เห็นดูเหมือนใส่ไม่ได้แต่พอหล่อลื่นแล้วใส่ ท่อยางจะลู่ไปตามช่องปากหรือจมูกได้ ให้ผู้ป่วยกลืนลงไปครับ ใส่ไปให้สุดเลย หลังจากนั้นตรวจสอบว่าเข้ากระเพาะจริงก็จะเห็นเลือดออกมาจากสายครับ ถ้าไม่มีเลือดอาจสงสัยท่องอหรือใส่ลงปอดครับ หลังจากนั้นใส่ลมหรือน้ำเข้าไปในบอลลูนของกระเพาะ ชื่อบอลลูนจะติดไว้ที่ปลายสายนะครับ ผมชอบใส่น้ำมากกว่าเพราะจะรู้เวลารั่วซึม ตอนแรกใส่สัก 50 ซีซี แล้วลองดึงดูก่อนว่าเลือ่นหลุดหรือไม่ ปกติปลายบอลลูนจะติดตรงรอยต่อกระเพาะและหลอดอาหาร ไม่หลุดออกมา ถ้าหลุดแสดงว่าปลายท่ออาจอยู่ในหลอดอาหาร
เมื่อตรวจสอบตำแหน่งแล้วคราวนี้ใส่บอลลูน 200-400 ซีซีครับ ปิดปลายสายให้แน่น แล้วดึงให้ตึงมือพอ แล้วใส่บอลลูนสำหรับหลอดอาหาร โดยมาตรฐานเราจะใช้ มานอมิเตอร์มาวัดแรงดันเลยครับ ใส่ลมจนได้แรงดันประมาณ 30 มิลลิเมตรปรอท (ต่อหัวต่อสามทางวัดเอา) อย่าให้เกิน 40 เพราะหลอดเลือดดีๆก็จะถูกกดไปด้วยครับ ในที่ๆวัดไม่ได้ก็ใส่ลมประมาณ 30-40 ซีซีครับ ปิดฝาปิดเช่นกัน ต่อไปก็ดึงสายให้ตึง ใช้เชือกผูกโยงสายกะว่าเป็นแนวพุ่งตรงจากรูจมูก อย่าเพิ่มองศามากหรือน้อยไป สายจะไปกดจมูกทำให้เจ็บมากได้ โยงผ่านเสาน้ำเกลือคล้ายลูกรอก หรือใช้ลูกรอกก็ได้ เวลาผู้ป่วยขยับตัว สายก็จะขยับขึ้นลง ไม่ตึงไม่หย่อนไป สายจะตึงพอดีๆเสมอ ปลายเชือกห้อยกับตุ้มน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ง่ายๆผมใช้ขวดน้ำเกลือนี่แหละครับถ่วงเอา
บางท่านอาจใส่สายให้อาหาร NG tube ลงไปอยู่ที่หลอดอาการเพื่อดูดเลือดส่วนที่ค้างอยู่หรือไว้ตรวจสอบว่าเลือดยังไหลหรือไม่ แต่ต้องระวังว่าใส่รูจมูกสองข้างนี่ถ้าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจจะหายใจยากมากครับ
ดึงสายไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ระหว่างนี้ก็แก้ไขภาวะเลือดออก เลือดแข็งตัวผิดปกติ เตรียมการส่องกล้อง ประมาณ 24 ชั่วโมงหรืออาจสั้นกว่านั้นถ้าเลือดหยุด ให้ปลดตุ้มถ่วงครับ ใช้แต่บอลลูนกดก็พอ ไม่งั้นเนื้อเยื่อดีๆตายหมด อาจคาบอลลูนไว้ 1-2 วันเพื่อรอการส่องกล้อง ย้ำว่าเพื่อรอการรักษานะครับ นี่เป็นแค่การรักษาอาการเท่านั้น
การใช้ยา somatostatin analogues ใช้มากคือ octreotide หรือ vasopressin เช่น terlipressin ก็ใช้ลดแรงดันเลือดในช่องท้องได้ ควรใช้ในผู้ป่วยเลือดออกแบบนี้ทุกราย จริงควรใช้ก่อนการใส่ SB tube ด้วยครับ ถ้าไม่สำเร็จค่อยใส่ SB tube หรือว่าเลือดออกมากท่วมจอจริงๆก็ใส่ SB tube รักษาชีวิตผู้ป่วยก่อนครับ
ปัจจุบันมีลูกหลานของ SB tube มากมายเช่น minnesota tube ที่ใส่บอลลูนในกระเพาะได้สูงถึง 500 ซีซี หรือ Linton-Nachals tube ที่ใส่บอลลูนในกระเพาะได้ถึง 600 ซีซีแลละมีสายดูดเลือดในหลอดอาหารด้วย การใช้ท่อต่างๆนี้ประสบความสำเร็จในการหยุดเลือดถึง 90% นะครับ
สุดท้าย ผมทำลิงค์ PDF ของผู้ให้กำเนิด Sengstaken-Blakemore tube ที่เขียนเองลงเองในวารสารปี 1950 เอามาให้ชมครับ
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, Sleisenger 10th, Ann.Surg. May 1950, อายุรศาสตร์ทันยุค 2559 ศิริราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น