ในปี คศ.1937 Harold Leeming Sheehan ได้รายงานโรคๆหนึ่งในวารสาร journal of Phatology and Bacteriology พบสุภาพสตรีมีภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และเกิดหลังจากตั้งครรภ์
สมมติฐานคือ เวลาตั้งครรภ์นั้นต่อมหมวกไตจะมีการเจริญอย่างมาก เพราะต้องทำหน้าที่หลายประการรวมทั้งการผลิตน้ำนมซึ่งจะเป็นส่วนหน้าของต่อมใต้สมอง เมื่อต้องทำงานมากก็จะใช้พลังงานมาก ต้องมีเลือดมาเลี้ยงมาก หากถ้าเกิดการขาดเลือดเฉียบพลัน ไม่ว่าจะเป็นการตกเลือด การเกิดอันตรายระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้เลือดไปเลี้ยงต่อมใต้สมองได้น้อยลง คือเทียบเท่าการขาดเลือดและการตายของเนื้อเยื่อต่อมใต้สมองนั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะเกิดการขาดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทั้งหลาย ที่อาจจะเห็นเด่นชัดคือ การขาดน้ำนม..จากการขาดฮอร์โมนโปรแลกติน ฮอร์โมนที่ใช้สร้างน้ำนม หรือขาดประจำเดือนจากการขาดฮอร์โมน FSH ที่คอยไปกระตุ้นรังไข่ให้เกิดวงรอบประจำเดือน
ต่อมใต้สมอง..ตั้งอยู่ในส่วนลึกมากของสมอง เป็นต่อมเล็กๆแต่มันคือตัวแม่ของการควบคุมฮอร์โมนทั้งร่างกาย ทั้งควบคุมการเจริญเติบโต การหลั่งไทรอยด์ การควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศ การควบคุมต่อมหมวกไต การสร้างน้ำนม และยังเป็นทางออกของฮอร์โมนที่สร้างออกมาจากสมองที่ใช้ควบคุมการดูดน้ำที่ไตและการบีบตัวของมดลูก ท่อน้ำนมอีกด้วย
อาการของโรคของต่อมใต้สมองที่ผิดปกติจึงมักจะเป็นอาการของความผิดปกติในระบบฮอร์โมนหลายๆระบบ (ไม่จำเป็นต้องผิดปกติทุกตัว) อย่างเช่น โรค Sheehan ก็จะมีอาการของสองถึงสามฮอร์โมน เอ๊ะ นมไม่ไหล..ประจำเดือนไม่มี มันไม่น่าจะโยงกันได้นะ ยิ่งถ้ามีฮอร์โมนตัวที่สามเช่น ไทรอยด์ต่ำ อันนี้ก็จะคิดถึงศูนย์ควบคุมรวมมันบกพร่อง คือต่อมใต้สมองนั่นเอง
หรือในบางทีอาจมีอาการของก้อน เช่นก้อนโตๆมากดทับต่อมใต้สมอง ทำให้ฮอร์โมนบกพร่อง และมีอาการปวดหัวจากก้อน และอาจไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงที่สำคัญคือเส้นประสาทสมองคู่ที่สองที่ใช้รับภาพ หรือเป็นก้อนของต่อมใต้สมองเองนั่นแหละที่โตไปกดเบียดอวัยวะอื่นๆ
อาการที่ค่อนข้างบอกตำแหน่งแถวๆต่อมใต้สมองได้แม่นคือ อาการลานสายตาด้านข้างแคบลง เหมือนท่านเป็นม้าที่ลากรถเมืองลำปาง ที่ต้องเอาแผ่นหนังมาบังด้านข้างสายตาไม่ให้ล่อกแล่กมองข้างๆ ลานสายตาที่เห็นก็จะไม่เห็นสองข้างเลย อาจจะมีอาการเช่นมีคนเข้ามาด้านข้างๆจะมองไม่เห็น เดินไม่พ้นขอบประตูเพราะไม่เห็นด้านข้าง ซึ่งกรณีกดเบียดนี้คือก้อนต้องใหญ่ครับ ซึ่งใหญ่ๆที่ว่าเนี่ยมากกว่า 1 เซนติเมตรก็นับว่าใหญ่แล้วนะครับ เพราะบริเวณนั้นพื้นที่น้อยมากๆ
ถ้าเกิดจากการเสื่อมสภาพ เนื้อเยื่อตายอย่างเช่น Sheehan ก็ต้องชดเชยฮอร์โมนที่ขาดไป เช่นรับประทาน ฮอร์โมนไทรอยด์ รับประทานยา prednisolone เพื่อชดเชยฮอร์โมนคอร์ติซอล รัปประทานฮอร์โมนเพศ ส่วนมากก็ต้องกินชดเชยไปตลอดชีวิต โรคของต่อมใต้สมองเองที่เป็นก้อนโตและอาจหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ส่วนมากก็คงต้องตัดออกครับ ยกเว้นโรคของฮอร์โมนการสร้างน้ำนมที่ชื่อ prolactinoma ที่ใช้ยากิน bromocriptine แล้วอาการดีขึ้นได้ ก้อนยุบได้
การตัดต่อมใต้สมองหรือผ่าตัดบริเวณนั้นก็จะทำให้ขาดฮอร์โมนต่างๆได้ เพราะเราไปทำลายตัวแม่ของการสร้างและควบคุมฮอร์โมนไปเสียแล้ว
แม้ว่าปัจจุบันโรค Sheehan นี้จะพบลดลงมากเนื่องจากการคลอดที่ปลอดภัย โอกาสตกเลือดหลังคลอดน้อยลงมากๆ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องคิดถึงเอาไว้ถ้ามีสุภาพสตรีที่เคยมีบุตร และมีอาการขาดฮอร์โมนของต่อมใต้สมองครับ และอาจมีก้อนหรือเซลมะเร็งไปฝังตัวที่ต่อมใต้สมองทำให้ทำงานบกพร่องได้นะครับ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น