23 พฤศจิกายน 2559

แพ้ยาสองตัว CBZ และ Celecoxib

เมื่อคนเขียน..เจอโรคที่เขียน เลยต้องมาเขียน ย้ำเตือนกันอีกครั้ง
ผู้ป่วยรายหนึ่งได้รับการส่งตัวมาปรึกษาว่ารับประทานยาไปหนึ่งสัปดาห์แล้วเริ่มมีผื่นขึ้น ยาที่คนไข้ยื่นมาคือ carbamazepine และ celecoxib เอ้า..ย้ำเตือนกันอีกทีแล้วกัน

   ยาที่ปัจจุบันพบว่าสัมพันธ์กับพันธุกรรมการแพ้ยา HLA มีหลายตัวมากๆ แต่ที่พบบ่อย(คนไทยนี่ลำดับต้นๆของโลกเลยครับ) มีปัญหากันมาก ก็จะเป็น ยากันชัก carbamazepine สัมพันธ์กับ HLA B*1502 (จริงยังมีตระกูล 15 อีกหลายตัวแต่ว่ายังตรวจยากครับ) ยาลดกรดยูริก allopurinol สัมพันธ์กับ HLA B*5801  ยารักษาไวรัสเอดส์เดิม ที่ปัจจุบันขยับมาใช้เป็นยาต้านไวรัสเอดส์ที่กำลังมาเป็นสูตรยาที่จะกลับมาใช้ใหม่ คือยา abacavir สัมพันธ์กับ HLA B*5701   ยาต้านไวรัสเอดส์ตัวเก่าที่การใช้ลดลงแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้อยู่เพราะราคาไม่แพง คือยา nevirapine สัมพันธ์กับ HLA B*3505
  ยากันชัก phenytoin ก็พบมีความสัมพันธ์กับ HLA B*1502 แต่ก็ไม่ได้บ่อยเหมือน carbamazepine

   ซึ่งยาที่เป็นปัญหาทั้งสามตัวนี้คือ allopurinol,carbamazepine,abacavir ถ้าตรวจพบยีนดังกล่าวจะเพิ่มโอกาสการเกิดผื่นแพ้ผิวหนังรุนแรงมากกว่าคนปกติหลายเท่า (ไม่นับผื่นไม่รุนแรง) ถ้าตรวจพบก่อนก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยา ลดโอกาสการเกิดผื่นรุนแรงที่เสียเงิน เสียเวลาในการรักษามากมาย
   การตรวจก็ส่งตรวจเลือดกับศูนย์ตรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือกับโรงเรียนแพทย์ต่างๆได้ครับค่าตรวจอยู่ที่ประมาณตัวละ 1000 บาท ใช้เวลา 3-5 วัน สำหรับการตรวจของยาลดกรดยูริก allopurinol นั้นมีผลงานวิจัยออกมาว่าคุ้มทุนแน่ ดีกว่าต้องมารักษาแพ้ยา  ส่วนยากันชัก carbamazepine ผลงานวิจัยออกมาว่า ในการรักษาอาการปวดจากดเส้นประสาทนั้นคุ้มค่า แต่ในการรักษาลมชักโดยต้องคัดกรองก่อนให้ทุกคนนั้น คงต้องพิจารณาอีกรอบ (แปลเป็นไทยว่าไม่ผ่านความคุ้ม) ในส่วนตัวผมแนะนำให้ตรวจครับ ทางองค์การอาหารและยาอเมริกาให้ตรวจก่อนใช้ ถ้าเป็นคนเอเชีย

  ในผู้ป่วยรายนี้อย่าลืมว่า อาจจะแพ้ยาอีกหนึ่งชนิดคือ celecoxib ซึ่งเป็นยาลดปวดต้านการอักเสบ ที่มีส่วนประกอบของซัลฟาอยู่ด้วย ก็อาจจะแพ้ซัลฟาก็ได้ คนไทยแพ้ซัลฟามากนะครับ
   หลายๆคนบอกว่ายาซัลฟาไม่ค่อยได้ใช้หรอก ไม่น่ากลัว ผมก็จะบอกว่าไม่ใช่นะครับ ส่วนประกอบของซัลฟามีอยู่ในยาอีกหลายชนิด ทั้งแบบเป็นยาฆ่าเชื้อ และไม่ได้เป็นยาฆ่าเชื้อ ส่วนมากถ้าจะแพ้ยาก็มักจะไม่ข้ามกลุ่ม ยาฆ่าเชื้อ หรือยาซัลฟาที่ไม่ใช้ฆ่าเชื้อ  (ส่วนมากหรือทางทฤษฎีนะครับ ทางปฏิบัติเห็นปุ๊บ หยุดหมด) เราจึงควรทราบด้วยว่ายาที่มีองค์ประกอบของซัลฟาน่ะยังมีอะไรอีก
  ยาลดน้ำตาล..sulfonylurea..glibenclamide,gliplizide,gliclazide,glimepiride
  ยาขับปัสสาวะ...furosemide,hydrochlorothiazide,acetazolamide
  ยาแก้ปวด..cerecoxib,rofecoxib
  ยากันชัก.. topiramate
  ยาฆ่าเชื้อ..bactrim,dapsone, sulfadiazine
  ยารักษาโรคทางรูมาติสซัม...sulfasalazine, 5-ASA

  ไม่ใช่ว่างดใช้นะครับ แต่ว่าต้องระมัดระวังมากๆ และถ้าแพ้รุนแรงมาก่อนก็ควรเปลี่ยนยา ถ้าไม่แพ้หรือไม่รุนแรงอาจพอให้ได้โดยระวังมากๆ  ควรให้คำแนะนำการแพ้ยากับผู้ใช้ยาในทุกๆครั้งที่มีการใช้ยา
  แถมท้ายด้วยภาพ อินโฟกราฟฟิกเรื่องการแพ้ยา ด้วยความเอื้อเฟื้อจาก ศ.ดร.วิจิตรา ทัศนียกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม