29 สิงหาคม 2559

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ atrial fibrillation

หัวใจเต้นผิดจังหวะ..attial fibrillation

   จากการประชุมสมาคมแพทย์โรคหัวใจยุโรป ซึ่งจริงๆก็มากันทั้งโลกเลย ได้มีหัวข้อและแนวทางมากมายใน 5 วันนี้ หนึ่งในสิ่งที่หมอผู้เชี่ยวชาญเขาพูดกัน วันนี้เรามาเรียนรู้กันด้วย
หัวใจเต้นผิดจังหวะ
    หัวใจเต้นผิดจังหวะนี้พบประมาณ 2-3% และอัตราจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะนี้อาจจะไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้นครั้งละ 1-2 นาทีหรือยาวนานเป็น 24 ชั่วโมงแล้วหายเอง หรือยาวนานเป็นสัปดาห์ มีอาการใจสั่นได้ต้องทำการรักษาจึงหาย หรือเป็นแบบเรื้อรังทำอย่างไรก็ไม่หาย ได้แต่ประคองอาการ

    จะเห็นว่าขอบข่ายของโรคและอาการของ atrial fibrillation นั้นมีมากมาย ต้องตรวจร่างกายและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจึงจะทราบชัดเจน  ความสำคัญของหัวใจเต้นผิดจังหวะประเภทนี้มีสามอย่าง อย่างแรกเป็นนานๆ ก็จะทำให้หัวใจบีบตัวแย่ลงเพราะห้องบนเต้นพริ้วมากระดับ 200-300 ครั้งต่อนาที ส่งจังหวะมาที่ห้องล่างได้บ้างไม่ได้บ้างการบีบตัวจึงแย่ครับ   อย่างที่สอง เราพบว่านี่คือสาเหตุสำคัญของอัมพาต เพราะเมื่อหังใจเต้นผิดจังหวะ เลือดจะไหลวน ไม่เป็นทิศทางเหมือนเวลาเต้นตามจังหวะ เกิดเป็นลิ่มเลือด พุ่งไปอุดตันที่สมอง เกิดเป็นอัมพาตได้ เรียกว่าจับคนที่เป็นอัมพาตไม่ทราบสาเหตุ เอามาวิเคราะห์จริงๆ พบ AF มากมายครับ (เพราะอาจเกิดแป๊บเดียวแล้วหายไป ตอนนั้นจึงไม่พบ)
     อย่างที่สาม เรามีการรักษาทั้งการใช้ยาเพื่อควบคุมทั้งจังหวะและความเร็ว การจี้วงจรไฟฟ้าหัวใจ การผ่าตัด และการให้ยาเพื่อป้องกันโรคอัมพาตได้ครับ จึงควรให้ความสำคัญกับโรคนี้ทั้งคุณหมอและคนไข้

     การควบคุมจังหวะ เรียกว่า ทำให้หายผิดจังหวะ ก็ทำได้ครับ จะประสบความสำเร็จดีในช่วงแรกๆ วงจรไฟฟ้าไม่ซับซ้อนนัก ใช้ได้ทั้งการใช้ยา amiodarone, flacainide หรือการใช้การช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้า  ซึ่งต้องให้ยากันเลือดแข็งก่อนและหลังทำนะครับ
    หรือการจี้วงจรไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งทำไม่ได้ทุกราย และยุ่งยาก เนื่องจากการควบคุมจังหวะเป็นการรักษาอาการครับ การใช้ยาจึงเป็นตัวเลือกแรกๆ

   การควบคุมอัตราเร็ว ส่วนมากของผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มนี้ คือ เป็นมานานกว่าจะพบหรือกว่าจะรู้ วงจรไฟฟ้ามันซับซ้อนมากแล้ว การแก้ไขจังหวะทำยากหรือไม่คุ้มค่า ก็จะเลือกคุมความเร็วแทน อัตราจะยังไม่สม่ำเสมอแต่ว่าคุมความเร็วได้ อันนี้จะเลือกใช้ยาเป็นหลักครับ ก็จะเลือกยาที่ผลข้างเคียงต่ำๆ เพราะต้องใช้นานครับ นิยม selective beta blocker และ calcium channal blocker มากกว่าครับ ส่วนยาเก่า lanoxin ใช้นานๆพิษมาก  และยาครอบจักรวาลอย่าง amiodarone ก็ใช้นานๆไม่ค่อยปลอดภัยครับ

    อย่างที่สาม ดูแลผลจากการเต้นผิดจังหวะ...หัวใจวาย..หัวใจโต...ก็ว่ากันไป แต่ที่ผมจะกล่าวคือ ป้องกันลิ่มเลือดไม่ให้พุ่งไปอุดที่สมองครับ  เราใช้ยากันเลือดแข็งเป็นหลักนะครับ โดยใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า CHA2DS2-VASc ...สำหรับหมอทุกคนต้องทราบ หา download ได้ครับ ...  ถ้าเป็นหัวใจปกติไม่ได้ซ่อมแซมมา และไม่ได้เกิดจากลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ ที่เรียกว่า valvular AF อันนี้จะเลือกใช้ยากันเลือดแข็งกลุ่มเดิม คือ warfarin หรือ กลุ่มใหม่ direct oral anticoagulant ก็ได้ครับ (ยากลุ่มใหม่ระวังในไตเสื่อมและสูงอายุมากๆ)
    ถ้ามีข้อห้ามการใช้ยา หรือ ใช้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องให้ยาครับ จะไม่ให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือ แอสไพรินนะครับ ไม่เกิดประโยชน์แน่ๆ แถมเลือดออกมากขึ้นอีก

    และถ้าทำให้ยาไม่ได้ พิจารณาทำ LAA occlusion คือ เอาอุปกรณ์เข้าไป กาง อุด ปิด ช่องว่างในหัวใจห้องบนซ้าย ที่ชื่อว่า left atrial apppendage หูที่ยื่นออกมา ร่องรอยจากการเจริญหัวใจตอนทารก แต่มันไปฝ่อจนหมด ช่องว่างตรงนี้มักจะเป็นจุดก่อเกิดลิ่มเลือด ในกรณีให้ยาไม่ได้ ก็ไปอุดช่องว่างนี้เสีย จะลดอัตราการเกิดอัมพาตได้ครับ

   ยาและการควบคุม ต้องทำตลอดชีวิตครับ ความสม่ำเสมอของการรักษา และการติดตามผลของการรักษาสำคัญมาก และแนวทางฉบับใหม่นี้ก็ยังเน้นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก ควบคุมโรคร่วมเช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ให้ดีอีกด้วยนะครับ

  เอาล่ะ เรารู้ concept ของ atrial fibrillation จากงานประชุมแล้ว รายละเอียดเชิงลึก หาโหลดได้ฟรีจาก www.escardio.org ฟรีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม