02 เมษายน 2559

ความคุ้มค่าของการใช้ค่าเลือด PSA

สถาบันมะเร็งแห่งชาติอเมริกา ได้เผยแพร่ภาพนี้ที่ผมคิดว่ากินใจมากๆ เรื่องราวของการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้ ค่าเลือด PSA

สองสามปีก่อนมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับความคุ้มค่าของการใช้ค่าเลือด PSA เพื่อการคัดกรองหามะเร็งลูกหมาก วารสาร New England Journal of Medicine ได้ตีพิมพ์เรื่องนี้บ่อยมาก Lancet oncology และ JAMA ก็โหมกระหน่ำตีพิมพ์การศึกษาเรื่องนี้จนกระทั่งแนวทางทางการปฏิบัติได้เปลี่ยนไป
สาร PSA ออกมาจากต่อมลูกหมาก อาจเพิ่มขึ้นได้ในกรณีต่อมลูกหมากโต หรือมีก้อนที่ไม่ใช่มะเร็ง หรือจากการอักเสบของลูกหมาก ปัจจุบันไม่แนะนำให้ตรวจค่านี้เพื่อวินิจฉัย แต่ใช้เพื่อตรวจติดตามโรค เช่น รักษามะเร็งแล้วติดตามค่าตัวนี้เพื่อดูว่ามะเร็งกลับมาหรือไม่ ย้ำๆๆอีกครั้งนะครับ ตรวจติดตามไม่ใช่เพื่อวินิจฉัย เนื่องจากผลการทดสอบนี้ไม่มีความจำเพาะเพียงพอ

หลายๆคนเมื่อตรวจพบค่าขึ้นสูง ก็จะกังวลและพาไปสู่การตัดชิ้นเนื้อ หรือการผ่าตัดรักษามะเร็งที่ไม่จำเป็น เพราะแค่ขึ้นสูงไม่ได้หมายถึงจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป ยังไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนนะครับว่า ค่าสูงเท่าไรจะต้องไปตัดชิ้นเนื้อ ซึ่งก็จะเสี่ยงต่ออันตรายจากการผ่าตัดหรือการเจาะชิ้นเนื้อ
ภาพนี้ได้สรุปมาจากการศึกษาหลักๆ คือ PLCO ศึกษา มะเร็งต่อมลูกหมาก ปอด ลำไส้ใหญ่ และ รังไข่ และการศึกษา ERSPC ศึกษาเกี่ยวกับมะเร็งลูกหมากในชาวยุโรป สองการศึกษานี้สนับสนุนโดยรัฐบาล และการศึกษาย่อยๆอีก และถ้าใครสนใจลองค้นวารสาร NEJM สักสองปีย้อนหลังมีการศึกษาว่าการใช้สาร PSA ในการคัดกรองอีกมากมาย

...เอาล่ะ..ภาพนี้แสดงว่า ในชาย 1000 คน ที่อายุ55-70 ปี และมาเข้ารับการคัดกรองอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี หรือ อย่างนานสุดสี่ปีครั้ง เอาสถิติ 10 ปีมาทำแผนภูมิ
** มีแค่ คนเดียวที่เราป้องกันได้จริงๆ
** 100-120 คน ได้รับผลว่าสูงปลอม นำพาไปสู่การเจาะชิ้นเนื้อที่ไม่จำเป็น และกว่าหนึ่งในสาม ได้รับผลเสียจากการเจาะตรวจอันไม่จำเป็นนั้น
** 110 คนเท่านั้นที่เป็นมะเร็ง และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รักษานั้นมีผลข้างเคียงรุนแรงจากการรักษา
อัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดผลเสียจากการรักษาที่เราคิดว่า ถ้าพบเร็วรักษาเร็ว ไม่น่าจะมีผลข้างเคียง มันเท่าๆกันกับกลุ่มที่ไม่ได้เจาะเลือด PSA เพื่อคัดกรองแต่อย่างได

 ปัจจุบันจึงไม่ได้แนะนำเจาะตรวจทุกคนทุกราย จะทำเมื่อสงสัยเท่านั้น และต้องใช้ร่วมกับการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนักทุกรายเท่านั้น

ความจริง กับ ความเชื่อ บางครั้งทับซ้อนจนมองยาก สติและปัญญา จะทำให้เราแยก " มายา" ออกจาก "ความจริง" ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม