ล่าสุดนี้ ผู้ป่วยรายหนึ่งมาแอดมิทในไอซียู ผมเองเอาที่ยาผู้ป่วยใช้อยู่หนึ่งตะกร้า มาทบทวน พบว่ามีน้ำมันปลาโอเมก้าสาม หก เก้า มากมาย มากกว่ายาที่ควรจะได้เสียอีก เลยไปอ่านตำราที่ทบทวนเรื่องเกี่ยวกับ โอเมก้าสาม มาให้ท่านได้อ่านครับ
ทำไมต้องเป็นน้ำมันปลาด้วยครับ อย่างแรกครับ "น้ำมันปลา" ไม่ใช่ "น้ำมันตับปลา" น้ำมันปลานั้นสกัดมาจากเนื้อและไขมันของปลาทะเล ผู้ที่แพ้อาหารทะเลก็กินได้นะครับ แต่น้ำมันตับปลาที่สกัดจากตับปลาจะได้ไขมันอิ่มตัวที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดครับ น้ำมันปลา เป็นไขมันไม่อิ่มตัว monounsaturated fat ที่เรียกว่า โอเมก้าสาม ที่เมื่อผ่านกระบวนการย่อยแล้วจะได้สารที่ต้านการอักเสบ ต่างจากโอเมก้าหกที่จะได้ออกมาเป็นสารกระตุ้นการอักเสบ แต่ความเป็นจริงอันนี้ยังไม่มีผลพิสูจน์ที่ชัดเจนมากนัก ว่าถ้ากินโอเมก้าสามมากๆจะช่วยลดการอักเสบได้แบบเน้นๆเนื้อๆนะครับ
โอเมก้าสามนั้น ประกอบด้วยกรด EPA/DHA ที่มีมากในปลาทะเล ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาค็อด และความจริงนั้น ปลาน้ำจืดไทยก็มีปริมาณโอเมก้าสามสูงมากนะครับ เช่นปลาสวาย ปลาช่อน ปลากระพงขาว มากกว่าแซลมอนซะอีก คนไทยยังกินปลาเป็นปริมาณน้อยครับ เราควรรับประทานปลามากขึ้น เพียงแต่ว่าไม่ควรใช้ทอดหรือไปผ่านการแปรรูป เพราะโอเมก้าสามจะเสื่อมสลายเมื่อโดนความร้อนสูง
การใช้โอเมก้าสามในปัจจุบันนั้น มีสองประการครับ อย่างแรกคือกินเพื่อเป็นยารักษา จากการศึกษา GISSI-HF พบว่าอัตราตายของผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจวาย ลดลง จากการได้รับโอเมก้าสามขนาดวันละ 1 กรัม และการศึกษา JELIS ที่ทำในญี่ปุ่น ลักษณะคล้ายๆ GISSI-HF จากการศึกษานี้ทำให้การใช้โอเมก้าสามได้รับการรับรองให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งต้องใช้ยาที่มีสัดส่วน EPA/DHA = 375/465 และสกัดบริสุทธิ์ หรือพูดง่ายๆคือมีอยู่ในยาที่ชื่อ omacor หรือชื่อเดียวกันที่ชื่อ Lovaza เท่านั้นนะครับ ยาอื่น สัดส่วนแบบอื่น หรือสกัดไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ยืนยันผลนะครับ ส่วนอีกข้อบ่งชี้คือ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมาก
อย่างที่สองคือ กินปลา หรือโอเมก้าสามเพื่อให้ได้กรดไขมันที่ดีนั้น แนะนำให้กินปลาจากธรรมชาติ มากกว่าอาหารเสริมครับ เพราะจะได้กรดไขมันครบถ้วน ได้เนื้อปลาที่เป็นโปรตีนคุณภาพสูง โดยทั่วไปก็กินปลาอย่างน้อยครั้งละสองส่วน (ประมาณปลาทูหนึ่งตัว) สองครั้งต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นปริมาณโอเมก้าสาม 0.5-1 กรัมต่อวันครับ
และไม่มีงานวิจัยยืนยันว่ากินปลาแล้วจะปลอดโรคหรือลดอัตราเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ หรือว่ากินแล้วจะฉลาดแต่อย่างใด นอกจากนี้การกินอาหารเสริมโอเมก้าสาม อาจเสี่ยงต่อภาวะ โอเมก้าสามเกินขนาดได้
ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ ไม่ควรกินปลาที่มีสารปรอทสูง อันได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาแม็คเคอเรล และปลาไท ส่วนในประเทศไทยถือว่าปลาค่อนข้างปลอดภัยครับ และถ้าใครกินยากันเลือดแข็ง warfarin จะต้องระมัดระวังในการใช้อาหารเสริม โอเมก้าสามครับ
ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงของโอเมก้าสามครับ เรียบเรียงจากบทความเรื่อง "omega-3 Fatty Acids and Cardiovascular Benifits) จาก อ.พญ.สิรกานติ์ เตชะวนิช ใน Nutrition Update
ขอบคุณครับ
ตอบลบ