01 เมษายน 2559

MetHemoglobinemia

MetHemoglobinemia

ภาพที่เห็นนั้น เป็นภาพที่ผมบันทึกเอาไว้เมื่อ 1 ปีก่อนเพื่อเอาไว้สอน เป็นภาพสีของปัสสาวะผู้ป่วยรายหนึ่งหลังได้รับการรักษา พอบรรจบหนึ่งปีเหมือนโลกกลมนะครับ ก็ได้พบผู้ป่วยโรคเดียวกันนี้อีกรอบ
ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเหนื่อยและเขียว หลังได้รับยา dapsone มาสามวัน โดยที่เดิมแข็งแรงดี ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค Met-Hemoglobinemia เมื่อใช้ยา methylene blue รักษา สีของยาmethylene blue ทำให้สีปัสสาวะออกมามีอมฟ้าอมเขียวแบบนี้ครับ ใช้กล้องมือถือถ่ายภาพและไม่ค่อยชัดน่ะครับ

โรคนี้เกิดจากการจัดการตัวนำออกซิเจนของร่างกายบกพร่องไป ปกติ "ฮีโมโกลบิน" หรือตัวนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆนั้น จะคงตัวมาก ยกเว้นบางภาวะที่เกิดปฏิกิริยากับออกซิเจน -- มันก็แหงล่ะ มันทำงานกับออกซิเจน-- แล้วจัดการปฏิกิริยาเคมีตัวเองไม่ได้ เกิดการจับเอาออกซิเจนติดแน่นกับตัวแล้วไม่ยอมปล่อยให้เนื้อเยื่อต่างๆใช้ เนื้อเยื่อทั้งร่างกายก็ขาดออกซิเจน ทั้งๆที่มีเลือดดีๆไปถึงที่ เหมือนกับท่านไม่เคยได้จดหมายจากญาติ ทั้งๆที่ญาติเขียนส่งมาทุกวัน เพราะบุรุษไปรษณีย์ยึดมาถึงหน้าบ้านแต่ไม่ยอมใส่จดหมายในตู้รับ

ร่างกายก็จะเริ่มทำงานผิดปกติ ตัวเขียว หน้ามืด เหนื่อย ร่างกายเรายอมให้มีเจ้าฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ คือ เจ้า methemoglobin นี้แค่ 1% ถ้ามีเกิน 10% จะเริ่มมีอาการและถ้ามีเกิน 30% จะอันตรายมากครับ ปกติร่างกายจะจัดการเองได้ครับ
แล้วจะจัดการไม่ได้เมื่อมีสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดปฏิกิริยา ออกซิเดชั่น รุนแรง ส่วนมากเกิดจากยาครับ เช่นยา dapsone ยารักษามาเลเรีย ยาซัลฟา สารไนเตรทในอาหาร ก็ไม่ได้เกิดทุกคนหรอกครับ และบางทีเกิดจากเอนไซม์ที่ใช้ควบคุมปฏิกิริยามันบกพร่องเช่น G-6-PD หรือ homozygous congenital cytochrome b reductase deficiency

การวินิจฉัย การตรวจแก๊สในเลือด การวัดค่า MetHb การผ่านออกซิเจนในเลือด ให้หมอๆเขาไปค้นกันต่อนะครับ เราๆท่านๆ จะข้ามไปที่ การรักษา โดยทั่วไปถ้า MetHemoglobin ไม่มากนักร่างกายก็จัดการเองได้ แต่ถ้ามีอาการมาก อันตราย หรือระดับ MetHb สูงๆ(โดยเฉพาะเกิน 30%) ก็ใช้ยาที่ชื่อว่า methylene blue ฉีดเข้าหลอดเลือด ซึ่งอาจไม่มีทุกโรงพยาบาลนะครับ ก็จะไปปรับปฏิกิริยาได้ อาจต้องฉีด 1-3 ครั้ง จึงจะวัดระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้เป็นปกติ บางการศึกษาใช้แอนติออกซิแดนท์ ไวตามินซี แต่ผลการศึกษาไม่ดีมากครับ

ผู้ป่วยรายนี้ให้ methylene blue 2 ครั้ง ก็กลับคืนสู่ปกติ อ้อ methylene blue ใช้ไม่ได้กับ G-6-PD และ sulfhemoglobinemia นะครับ เมื่อรักษาแล้ว สีปัสสาวะเลยออกมาเป็นแบบนี้ครับ

ที่มา : ศูนย์พิษรามา
: จารุพรรณ มโนสิทธิศักดิ์ ใน ศรีนครินทร์เวชสาร 2552;24(2)
: cecli medicine

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม