21 เมษายน 2559

หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน

หลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน .. เราเคยชินกับหลอดเลือดแดงที่สมอง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน อีกหนึ่งหลอดเลือดที่บ่งชี้อันตรายและอัตราตาย รวมทั้งมีอัตราการพิการ โอกาสถูกตัดขาตัดแขน คือหลอดเลือดส่วนปลายครับ

หลอดเลือดส่วนปลายนั้นเราหมายถึงแขนงของหลอดเลือดแดงใหญ่ อันได้แก่หลอดเลือดที่ไปแขนขา หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต (renal artery) หลอดเลือดไปเลี้ยงลำไส้ (mesentery artery) หลอดเลือดที่พาดผ่านลำคอเพื่อไปเข้าสมอง (carotid artery) หลอดเลือดทั้งหมดนี้มีวิธีการรักษาอาการตีบตันคล้ายๆกันจึงจัดเอาไว้กลุ่มเดียวกันเรียกว่า peripheral artery disease (peripheral คือ หลอดเลือดส่วนปลาย) ตามแนวทางการรักษาของ สมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดของยุโรปและอเมริกา (ACC/AHA 2011, ESC 2011)
แต่ว่าวันนี้เราจะมากล่าวคร่าวๆถึงหลอดเลือดที่แขนขา เพราะไอ้ที่อยู่ข้างในมันยากที่จะตรวจได้ สำหรับแขนขานั้นมีอาการและอาการแสดงง่ายๆที่พอจะบ่งชี้โรคได้ เรียกว่า 6 P หรือบางตำราเอาแค่ 5 P เรามาดูกันครับ

1. pain คืออาการปวด ถ้าอุดเฉียบพลันจะปวดมากครับ อุดแขนปวดแขน อุดขาปวดขา ข้างนั่นๆยิ่งขยับยิ่งปวด แต่ถ้าอุดแบบเรื้อรังก็มักจะปวดเวลาออกแรง โดยเฉพาะอาการปวดขาเวลาเดินไปได้ระยะทางสักระยะทางหนึ่งก็จะปวดมาก ต้องหยุดพัก ห้อยเท้า จึงจะหายปวดและเดินต่อได้ เรียกอาการปวดแบบนี้ว่า intermittent claudication มักจะปวดข้างเดียว
ต่างจากอาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ คือ ปวดจากหลอดเลือดก็จะไม่มีอาการปวดร้าว จากเอว มาต้นขา มาน่อง มาปลายเท้า อาการปวดจากหลอดเลือดจะปวดที่ขาเลยครับ เนื่องจากเวลาเดินกล้ามเนื้อต้องการเลือดมาเลี้ยงมาก พอเส้นตีบก็มาเลี้ยงไม่ทัน สารต่างๆจะคั่งทำให้ปวด พอพักให้เลือดลมเดินดีๆ ก็จะบรรเทาลงครับ

2. pallor คือสีซีดจางลง อันนี้ก็ตรงไปตรงมาดีครับ เพราะเลือดไปเลี้ยงน้อยลง สีเลือดฝาดก็ลดลง และยังรวมไปถึงอวัยวะที่ผิวหนังก็จะด้อยถอยลงด้วย เช่น เล็บก็จะฝ่อ ขรุขระ เส้นขนก็จะขาดง่าย งอกช้า ผิวหนังก็จะซีด แต่ถ้าขาดรุนแรงมากก็จะเริ่มตายและดำคล้ำลงครับ
อาจเห็นเป็นสีที่แยกกันชัดเจนเหมือนใส่ถุงมือถุงเท้าแบบนั้นเลย หรือจะเป็นแค่ หนึ่งนิ้วมือ หนึ่งนิ้วเท้าก็ได้ขึ้นกับตำแหน่งอุดตัน

3. poikilothermia คืออุณหภูมิเย็นกว่าอีกข้าง ไม่ใช่อีกข้างร้อนกว่านะครับ อาการนี้จะชัดเจนถ้าตีบเฉียบพลัน เนื่องจากยังไม่มีเส้นเลือดอื่นๆบายพาสไปช่วย หรือเกิดในรายเรื้อรังแต่ว่ารุนแรง จับดูจะเย็นกว่าอีกข้างชัดเจน ถ้าเป็นเรื้อรังแต่ไม่มาก มักจะมีเส้นเลือดส่วนอื่นๆส่งกำลังสำรองมาบำรุงได้ครับ อาการก็จะไม่ชัด

4. pulselessness คือคลำชีพจรในข้างที่อุดตันได้เบาลง อัตราการเต้นจะเท่ากันแต่ความแรงนั้นลดลง จุดที่นิยมคลำ คือ ที่ข้อมือ ข้อพับข้อศอก หลังเท้า ข้างตาตุ่มด้านใน เทียบกับ บนล่างซ้ายขวา และถ้าคลำได้ไม่เท่ากัน ก็จะวัดความดันเลือดทั้งแขนและขาที่เรียกว่าการวัดดัชนีความดันโลหิตเทียบข้อเท้าและแขน (ankle-brachial index) วิธีการทำอย่างละเอียดจะไม่กล่าวถึงนะครับ ถ้าสัดส่วนความดันตัวบน ของข้อเท้าหารด้วยที่แขน น้อยกว่า 0.9 ถือว่ามีโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย และต้องไประบุตำแหน่งและชนิดของหลอดเลือดที่ตีบตันต่อไป

5. paresthesia คืออาการชาครับ อาการชาจากการขาดเลือดนั้น จุดที่เกิดโรคคือ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทมันแคบลง หรือตีบส่วนต้นจนทำให้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงเส้นประสาทนั่นมีเลือดมาน้อยลง จนทำให้เส้นประสาทนั้นขาดเลือดและสูญเสียหน้าที่ไป
อาการชามักจะเป็นที่ปลายมือปลายเท้า ลักษณะเหมือนสวมถุงมือถุงเท้า ตีบข้างใดชาข้างนั่น หรือถ้าตีบเท่าๆกันหมด เช่น เบาหวาน ก็จะเหมือนสวมถุงมือถุงเท้าครบทั้ง 4 จุดครับ

6. อันที่หกนี้ บางคนก็ไม่นับ คือ paralysis คือการสูญเสียหน้าที่ ของกล้ามเนื้อที่หลอดเลือดแดงนั้นไปเลี้ยง ทำให้ขยับไม่ได้หรือไม่สะดวก แต่ว่าจริงๆ กล้ามเนื้อนั่นจะมีหลอดเลือดหลายๆอันมาเลี้ยง ดังนั้นอาจแปลตรงๆว่าขาดเส้นเลือดเส้นนั้นเส้นนี้ตรงๆ จากกล้ามเนื้อมัดเดียวไม่ได้ครับ

อาการทั้งหกอย่างนี้เป็นเพียงเบื้องต้นและพบบ่อยๆครับ เมื่อพบคงต้องทำการหาสาเหตุการอุดตันและตรวจพิเศษหาจุดอุดตัน เช่น การตรวจความแรงของเลือดตามจุดต่างๆ การใช้อัลตร้าซาวนด์ การฉีดสีถ่ายภาพ หรือการเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
สาเหตุที่พบมากคือหลอดเลือดตันจากก้อนไขมันและเกล็ดเลือด ที่เป็นการเกิดโรคเหมือนกับโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง การป้องกันและการลดปัจจัยเสี่ยง เบาหวาน ความดัน ไขมัน อ้วน บุหรี่ การกินยาต้านเกล็ดเลือด การรักษาพวกนี้เป็นแนวทางเดียวกัน ลดอัตราการเสียชีวิตได้เช่นกัน

แต่ที่อยากเน้นย้ำการรักษาสำหรับโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ที่มีประโยชน์และต้องทำ คือ หยุดบุหรี่ การออกกำลังกายแบบมีเทรนเนอร์ อันนี้ต้องอ่านใน ACC/AHA หรือ ESC หรือปรึกษาอายุรแพทย์ของท่าน (เป็นการออกกำลังกายสลับการพักเมื่อมีอาการปวด ค่อยๆปรับขนาดขึ้นเรื่อยๆ) การออกำลังกายนั้นประสิทธิภาพสูงมาก พอๆกับการผ่าตัดหลอดเลือดเลยนะครับ (CLEVER study) การใช้ยาลดปวดขยายหลอดเลือด cilostazol ก็เป็นข้อแนะนำที่ต้องทำ ถ้าไม่มีข้อห้าม

ส่วนการผ่าตัดทั้งใส่สายสวน วางขดลวดค้ำยัน หรือ ผ่าตัดบายพาส ใช้หลอดเลือดเทียม ทำเมื่อการรักษาด้วยยาและการออกกำลังกายไม่ได้ผลแล้วนะครับ ซึ่งต้องยกเรื่องราวนี้ให้ศัลยแพทย์ต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม