16 เมษายน 2559

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

 ภาวะโรคที่มักมีอุบัติการณ์การเกิดหลังเทศกาล...เอ๊ะ..ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ผมตั้งใจเขียนเรื่องนี้สองส่วนส่วนแรกให้ทุกท่านได้อ่าน ส่วนที่สองลงลึกเป็นของขวัญให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ครับ วันนี้เรามาส่วนแรกก่อน

 ตับอ่อน..เป็นอวัยวะที่อยู่หลังช่องท้อง ลึกกว่ากระเพาะอาหารลงไป ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยสารพัดชนิด และสร้างฮอร์โมนในการควบคุมน้ำตาล ฮอร์โมนหลักนั้นคือ อินซูลิน ซึ่งถ้าบกพร่องก็เป็นเบาหวานนั่นเองครับ จากตำแหน่งของมัน เวลาอักเสบอาการที่เกิดก็จะปวดมากรุนแรงบริเวณลิ้นปี่ครับ คล้ายๆโรคกระเพาะและมักจะมีลักษณะที่สำคัญคือ ปวดทะลุไปด้านหลัง ปวดทะลุไปด้านหลัง คล้ายกับเอามีดเสียบด้านหน้าทะลุ ฉึกกกก ไปที่ด้านหลังตรงๆแบบนั้น พอลุกนั่งโน้มตัวมาข้างหน้าอาการปวดจะลดลง จึงมักพบผู้ป่วยนั่งปวดกุมท้องบ่อยๆ จริงๆอาการก็คล้ายๆโรคกระเพาะ ถ้าคุณหมอสงสัยภาวะนี้จะเจาะเลือดตรวจ amylase หรือ lipase เพื่อยืนยันการวินิจฉัย ปัจจุบันเราใช้ revised Atlanta criteria 2012 ในการวินิจฉัยและแยกประเภท เดี๋ยวผมจะมาสรุปให้ฟังนะครับ น่าสนใจมาก

การเกิดโรคเกิดจากการที่เอนไซม์ตับอ่อนถูกกระตุ้น ผิดปกติ ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากเอนไซม์ทั้งตัวนะครับ อาการและการดำเนินโรคของตับอ่อนอักเสบจึงมีสองอย่างคืออาการจากตับอ่อน และอาการทั้งตัว ความรุนแรงของโรควัดกันที่ อาการทั้งตัวมากน้อยแค่ไหนนะครับ เช่น ขาดน้ำ หายใจล้มเหลว น้ำในเยื่อหุ้มปอด น้ำท่วมปอด เลือดไม่แข็งตัว พวกนี้ถ้าเป็นมากๆ เสียชีวิตได้ครับ
เกิดจากอะไร เอาง่ายๆพบบ่อยๆเลยนะ คือ แอลกอฮอล์ครับ ผู้ร้ายอันดับหนึ่ง สาเหตุอื่นๆที่พบบ้างคือ นิ่วในถุงน้ำดีหลุดมา นิ่วในท่อตับอ่อน ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมาก โรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่บอกว่าเป็นมากในช่วงเทศกาลเพราะว่า ช่วงเทศกาลนั้นจะดื่มเหล้ากันมาก หลังเทศกาลถ้าพบผู้ป่วยปวดท้องมาก อย่าลืมโรคนี้ด้วยนะครับ

การดูแลรักษา ส่วนมากใช้การประคับประคอง ช่วยร่างกายให้ผ่านพ้นภาวะนี้ไปได้ และให้ร่างกายจัดการเอนไซม์นั้นไป ดูแลภาวะแทรกซ้อนให้ดีก็จะพ้นภาวะนี้ไปได้
ในรายอาการไม่รุนแรง ไม่มีอวัยวะอื่นเกี่ยวข้อง ก็รักษาโดยให้น้ำเกลือ ให้ยาแก้ปวดให้เพียงพอ กินอาหารได้เลยนะครับถ้าไม่ปวด แต่ก่อนเราจะให้คนไข้งดอาหาร ปัจจุบันนี้เราพิสูจน์แล้วว่ากินได้เร็วจะลดการดำเนินโรค และลดอัตราตายครับ ใช้เวลารักษา 3-5 วัน ก็มักจะดีขึ้น

ในรายที่รุนแรงมาก มีอวัยวะอื่นๆเกี่ยวข้องด้วย ผู้ป่วยมักจะต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ต้องรับการประคับประคองการหายใจ ใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้สารน้ำมากๆต้องใส่สายไปวัดค่าต่างๆในหัวใจ ใส่สายยางให้อาหาร (ปัจจุบัน ใช้สายยางทางจมูกไปที่กระเพาะหรือที่ลำไส้ก็ได้) การให้อาหารเร็วขึ้นนี่แหละครับ ทำให้ความรุนแรงของโรคลดลงมากเลย การศึกษาปัจจุบันพบแล้วว่าการให้อาหารเร็วนั้น จะทำให้ลำไส้แข็งแรง แบคทีเรียในลำไส้ก็ไม่เข้าสู่กระแสเลือดหรือไม่เข้าสู่ตับอ่อน ความรุนแรงของโรคก็ลดลงและ การให้อาหารเร็วๆนี้ ลดอัตราตายนะครับ

ถ้าโรครุนแรงขึ้น ปัจจุบันแนะนำให้ทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง ตั้งแต่ 48-72 ชั่วโมง เพื่อประเมินผลข้างเคียงต่อตัวตับอ่อน เพื่อวางแผนการรักษา การให้ยาฆ่าเชื้อ การสองกล้อง และการผ่าตัด ปัจจุบันเราพยายาม "ไม่" ผ่าตัดถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ใช้การเจาะน้ำ ใช้การส่องกล้องมากกว่าครับ

 รายละเอียดผมจะมาเขียนอีกตอน รออ่าน atlanta criteria และสรุปเลคเชอร์จาก ปรมาจารย์ตับอ่อนของไทย ท่านอาจารย์ สุพจน์ พงศ์ประสบชัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม