03 กรกฎาคม 2566

ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ : การประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนผ่าตัด 2 : อ.นิธิมา รัตนสิทธิ์

 ความรู้จากราชวิทยาลัย ฯ : การประเมินโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนผ่าตัด : อ.นิธิมา รัตนสิทธิ์

แล้วจะลดความเสี่ยงอย่างไรดี หลังจากทราบลำดับความสำคัญและการจัดกลุ่มไปแล้ว ในงานประชุม อาจารย์เลือกมาในหัวข้อที่น่ารู้และสำคัญ ใครสนใจอ่านเพิ่มได้ที่นี่ ผมทำลิ้งค์มาให้แล้ว
1.ถ้าสูบบุหรี่อยู่ หลักฐานชัดเจนว่าหยุดสูบบุหรี่อย่างน้อยหนึ่งเดือน จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคระหว่างและหลังผ่าตัด และในความเห็นผม ไหน ๆ ก็หยุดแล้ว ให้ถือโอกาสนี้เลิกบุหรี่เลยก็ดีนะครับ
2.โรคที่เป็นอยู่ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่รอได้ (elective surgery) ให้รอไปควบคุมให้ดีพอประมาณก่อน ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ควรรอนาน ให้รีบประเมินและจัดการเท่าที่ทำได้ ซึ่งส่วนมากก็จะจัดการได้ยาก ทำได้แค่จัดลำดับความเสี่ยงและเฝ้าระว้ง ในความเห็นของผมนะ จัดการโรคเดิมไว้ให้ดี คุณไม่มีวันรู้ว่าจะต้องผ่าตัดวันไหน
3.ยาลดความดันที่ควรหยุดก่อนผ่าตัดคือ ยาขับปัสสาวะ ยาเบาหวานที่ควรหยุดคือ SGLT2i เพราะอาจมีปัญหาขาดสารน้ำก่อนหรือระหว่างผ่าตัด แต่ว่านี่คือแนวทางนะครับ จริง ๆ แล้วจะหยุดอะไร เวลาเท่าไร ควรเข้ารับการปรึกษาเป็นรายไป
4.ยาต้านเกล็ดเลือด โดยเฉพาะแอสไพริน ถ้าเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงเลือดออกไม่สูง หลักฐานการศึกษาและแนวทางบอกว่าไม่ต้องหยุด เช่น ทำฟัน ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรปรึกษาศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดด้วย
ปัญหามักจะเกิดในกรณีต้องกินยาต้านเกล็ดเลือดสองตัวคู่กัน และเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงเลือดออกสูงเสียด้วย หลักคือเลื่อนการผ่าตัดจนถึงเวลาน้อยที่สุดที่จะหยุดยาต้านทั้งคู่ได้ โดยถ้าเสี่ยงเลือดอุดตันมากเช่นในขดลวดค้ำยัน แล้วต้องผ่าตัดโอกาสเลือดออกสูง ก็จะแนะนำเลื่อนประมาณ 6 เดือน รอจนพ้นระยะสั้นที่สุดที่จะใช้ยาคู่ ส่วนกรณีอื่น ๆ ที่เสี่ยงต่ำกว่าจะลดหลั่นกันลงมา
5.ยาต้านการแข็งตัวเลือด (anticoagulant) ถ้าไม่ใช่การผ่าตัดเลือดออกมาก คำแนะนำก็ให้ใช้ warfarin ขนาดต่ำต่อได้ปรับ INR ลดลงสักหน่อยพอปลอดภัย หรือใช้ NOACS ให้หยุดยาช่วงสั้น ๆ พอพ้นระยะผ่าตัด และไม่ต้องให้ยาอื่นเพื่อทดแทน การให้ยาเพื่อทดแทนยากินต้านเลือดแข็งจะใช้ในกรณีผ่าตัดเสี่ยงสูงและโอกาสเกิดลิ่มเลือดก็สูงถ้าไปหยุดยา เช่นใส่ลิ้นหัวใจเทียม หรือการผ่าตัดเสี่ยงสูงนั้นรอหยุดยากินไม่ได้
6.กรณีลิ้นหัวใจ aortic ตีบรุนแรงแล้วจะผ่าตัด ถ้าไม่มีอาการและแรงบีบหัวใจดี EF > 50% สามารถผ่าตัดได้ จะมีปัญหาหากผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบนั้นมีอาการ แนะนำถ้าเลื่อนผ่าตัดได้ควรไปผ่าตัดลิ้นตีบก่อน
หัวข้อนี้สำคัญและต้องคุยกันระหว่างคุณหมอผู้เกี่ยวข้องและอย่าลืมอธิบายและปรึกษาผู้ป่วยกับญาติด้วยนะครับ เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจและการฟ้องร้องหากกรณีปัญหาครับ
จบส่วนที่ 2/2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม