ความรู้จากราชวิทยาลัยสู่ประชาชน : การคัดกรองมะเร็ง ตอนที่ 1 : อ.ศุทธินี อิทธิเมฆินทร์
แบ่งออกเป็นสองตอน ส่วนแรกคือคำแนะนำในการคัดกรอง ส่วนที่ของคือความเข้าใจและปรัชญาของการคัดกรอง ขอเริ่มที่ส่วนแรกก่อนนะครับ
การคัดกรองนี้ใช้กับกลุ่มประชากรทั่วไป (average risk) ส่วนกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปรกติเช่น มีรอยโรคที่บ่งชี้มะเร็งในอนาคต มีประวัติครอบครัว หรือเคยตรวจพบยีนก่อมะเร็ง อันนี้จะใช้แนวทางนี้ไม่ได้ต้องปรึกษาคุณหมอเป็นกรณีไปครับ
มะเร็งเต้านม
แนะนำใช้การทำ mammogram และอาจเสริมด้วยการทำอัลตร้าซาวนด์เต้านมในบางราย เช่น เนื้อเต้านมยังหนาแน่นมากในสุภาพสตรีอายุน้อย โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปี ให้ทำทุกปี และเมื่ออายุมากขึ้น 50-75 ปีอาจขยายเป็นสองปีต่อครั้งได้
และเมื่ออายุมากอาจจะคัดกรองต่อไปได้ หากประเมินว่ายังสามารถใช้ชีวิตต่ออย่างมีคุณภาพได้ และสามารถผ่าตัดได้หากพบก้อน
สำหรับการตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองหรือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แนะนำทำได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปีและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มมากกว่าปรกติ
มะเร็งปากมดลูก
แนะนำทำตั้งแต่อายุ 20-65 ปี โดยใช้การตรวจภายในและเก็บเซลล์จากปากมดลูกไปทำการตรวจสอบเซลล์ที่ผิดปกติ (Pap Smear) ร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (ไวรัสก่อมะเร็ง) โดยตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัส ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจทั้งสองอย่างพร้อมกันในการตรวจภายในครั้งเดียว
หากตรวจ Pap Smear อย่างเดียวแนะนำตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าตรวจ HPV DNA ร่วมด้วยแนะนำให้ตรวจทุก 5 ปี และไม่ว่าจะฉีดวัคซีน HPV มาแล้วหรือไม่ก็แนะนำตรวจคัดกรองเหมือนกัน
เมื่อายุถึง 65 ปี ถ้าตรวจคัดกรองต่อเนื่องมาโดยตลอด และผลการตรวจเป็นปกติ เป็นเวลาย้อนหลังต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี สามารถหยุดคัดกรองได้
มะเร็งลำไส้ใหญ่
เกณฑ์เสี่ยงทั่วไปคือ อายุมากกว่า 45 ปี แนะนำตรวจคัดกรองเมื่ออายุตั้งแต่ 45 ปี และยุติการคัดกรองเมื่ออายุ 75 ปี คำแนะนำการตรวจและระยะห่างในการตรวจขึ้นกับวิธี ซึ่งแต่ละสถานที่แต่ละโอกาสเหมาะสมแตกต่างกัน
การตรวจอุจจาระด้วยวิธี FOBT ตรวจหา heme ของมนุษย์ในอุจจาระ แนะนำตรวจทุกปี หากผิดปกติแนะนำส่องกล้อง
การตรวจอุจจาระเพื่อหา DNA ที่ผิดปกติในกลุ่มน่าจะเป็นมะเร็ง (fecal DNA) แนะนำตรวจทุก 3 ปี หากผิดปกติไปส่องกล้อง
การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonography) ความไวไม่แพ้ส่องกล้อง เห็นโครงสร้างนอกลำไส้ด้วย ไม่รุกล้ำ แต่…ตัดชิ้นเนื้อไม่ได้ อาจจะต้องส่องกล้องอีก อันนี้ทำทุก 5 ปี
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เป็นมาตรฐาน gold standard ในการคัดกรอง ทำทุก 10 ปี
มะเร็งปอด
มะเร็งปอดจะคัดกรองในคนที่เสี่ยงพอสมควรเท่านั้น คือ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติสูบบุหรี่อย่างน้อย 20 ซองปี ไม่ว่าจะยังสูบอยู่หรือเลิกไปไม่เกิน 15 ปี ถ้ามีสมบัติถึงเกณฑ์สามารถเข้ารับการคัดกรองได้ โดยวิธีการจะใช้ low dose CT chest เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกแบบไม่ฉีดสารทึบแสง และใช้ความแรงรังสีไม่มาก
โดยทำทุกปี จนกว่าจะพ้นเกณฑ์คือเลิกบุหรี่มาเกิน 15 ปี หรืออายุมากจนคิดว่าการคัดกรองแล้วหากรักษาก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และที่สำคัญจะคัดกรองต่อเมื่อคนคนนั้นตัดสินใจเลิกบุหรี่
มะเร็งลูกหมาก
ทำเฉพาะในเพศชาย อายุตั้งแต่ 50-75 ปีและมีช่วงเวลาชีวิตเกินกว่า 10 ปี ถ้าอายุน้อยจะต้องมีประวัติครอบครัวมะเร็งลูกหมากร่วมด้วยที่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลการคัดกรองปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงเพราะความไวและความจำเพาะยังไม่ดีมากพอ ปัจจุบันจึงใช้วิธีที่ไวที่สุดเท่ามีอยู่
การคัดกรองใช้การตรวจทางทวารหนัก ร่วมกับการใช้ผลเลือด PSA ถ้าค่า PSA มากกว่า 10 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลูกหมากถึง 50% สและหากต่ำกว่า 4 โอกาสมะเร็งลูกหมากจะต่ะ และหากยังไม่ชัดเจน อาจตรวจค่า free PSA มาคำนวณร่วมด้วย ถ้าสัดส่วน free PSA น้อยกว่า 10% จะแนะนำไปตัดชิ้นเนื้อตรวจต่อไป
จบตอนที่ 1
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น