24 มีนาคม 2566

Hodgekin's Disease เดวิด บรูกส์ เป็นนักฟุตบอลดาวรุ่งทีมชาติเวลส์

 วันนี้เราจะมารู้จักนักฟุตบอลคนหนึ่งและโรคที่เขาเป็นนะครับ

ทีมฟุตบอลบอร์นมัธเป็นทีมเล็ก ๆ ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ไม่ได้อยู่ในกลุ่มแย่งแชมป์ ออกไปทางหนีตกชั้น ในวันที่แข่งกับทีมลิเวอร์พูล กล้องสนามจับไปที่นักเตะสำรองคนหนึ่งและบอกว่า วันนี้เราได้เห็นเขามานั่งที่ม้านั่งสำรอง หลังจากที่หายไปปีกว่า ๆ และทุกคนดีใจ สื่อต่างประเทศก็ลงข่าวนี้ นักฟุตบอลคนนั้นคือ เดวิด บรูกส์
เดวิด บรูกส์ เป็นนักฟุตบอลดาวรุ่งทีมชาติเวลส์ เมื่อสองปีก่อน ตอนที่เขาอายุ 24 ปีเขารู้สึกมีไข้ ทำให้ไม่ได้ไปแข่งเกมทีมชาติ หลังจากนั้นบรูกส์เข้ารับการตรวจต่อเนื่อง จนเมื่อตุลาคม 2021 ผลการตรวจออกมาว่าบรูกส์เป็นเนื้องอกต่อมน้ำเหลือง Hodgekin's Disease ระยะที่สอง
ทำให้เขาต้องพักการเล่นเพื่อรักษาตัว ภายใต้สัญญาต่อเนื่องกับบอร์นมัธ กว่าหกร้อยวันที่เขาหายไป จนมาปรากฏกายในสนามในฐานะตัวสำรอง โรคนี้คืออะไร ใช่มะเร็งหรือไม่ ทำไมมันหายได้
Hodgekin's Disease เป็นโรคเนื้องอกที่มีเซลล์ผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยท์ ด้วยลักษณะของโรคที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตหลายตำเแหน่ง อวัยวะน้ำเหลืองโต ก่อนหน้านี้เราเรียกโรคนี้ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กินส์
ลักษณะสำคัญที่บอกแบบนี้เพราะเมื่อเราตัดชิ้นเนื้อไปย้อม จะพบเซลล์เฉพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวเปลี่ยนรูป ตัวโตขึ้น นิวเคลียสหลายอัน รูปร่างเหมือนตานกฮูก (owl eye) เรียกเซลล์นี้ตามผู้ก่อตั้งว่า Reed-Sternberg Cell และเรียกมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ไม่มีเซลล์ชนิดนี้ว่า Non-Hodgkin's Lymphoma … แล้วทำไมจากเดิมเป็นมะเร็ง (lymphoma) จึงปรับลดมาเป็นแค่โรคฮอดจ์กินส์เท่านั้น
อย่างที่บอกเซลล์ผิดปกติมันต่างกัน และเมื่อเทคโนโลยีเราก้าวหน้ามากขึ้น เราพบว่า lymphoma คือมะเร็งของเม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยท์ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมแบบนี้ ตัวรับผิวเซลล์แบบนี้ เพื่อแยกโรคได้แม่นยำกว่าการมองด้วยตา และเราก็พบความจริงว่า
Reed-Sternberg Cell คือเม็ดเลือดขาวลิมโฟซัยท์ชนิดบีเซลล์ (อีกแบบคือทีเซลล์) ที่มีลักษณะการกลายพันธุ์และตัวรับบนผิวเซลล์ที่ต่างจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวอื่น ๆ มันมีตัวรับ CD15 CD30 เกือบ 85% แต่ไม่ค่อยมี CD19 CD20 ที่อยู่บนเซลล์เม็ดเลือดขาวบีเซลล์ รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอื่น ๆ ด้วย
อีกทั้งการตอบสนองต่อการรักษาดีมาก ๆ โดยรวมแล้วทุกระยะถ้าไม่ลุกลามร้ายแรง จะตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดถึง 92-100% แถมยังตอบสนองดีต่อการฉายแสงอีกด้วย ยิ่งถ้าเป็นระยะแรก ยิ่งรักษาหาย การเกิดซ้ำและการลุกลามก็น้อย เรียกว่า น่าจะแตกต่างจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันเราจึงเรียก Hodgkin's Disease แทน Hodgkin's Lymphoma
อาการและอาการแสดงเหมือนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตหลายจุด ตับม้ามโต มีไข้เรื้อรัง (สมัยก่อนมีไข้ที่เรียกว่า Pel-Ebstein Fever ที่คิดถึงมะเร็งชนิดนี้ แต่ขอโทษ..พบน้อยมาก) การวินิจฉัยต้องตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ และทำเอ็กซเรย์เพื่อหาตำแหน่งต่าง ๆ ให้ครบ โดยแนะนำ PET CT scan การจัดระยะโรคและพยากรณ์โรคยังคิดเหมือนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั่วไป
การรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดที่ต่างไปจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin's เพราะตัวรับบนเซลล์และชนิดเซลล์ต่างกัน เราจะใช้สูตร ABVD ที่การตอบสองดีมากให้แค่ 4 ครั้ง หรือบางรายอาจใช้ร่วมกับการฉายแสงขนาดต่ำ ๆ
แนะนำรักษาทุกคนเพราะผลการรักษาดีมาก…แต่ทว่า
สิ่งที่น่าเป็นห่วงเพิ่มคือผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เพราะว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดรอดชีวิต นั่นคือ ชีวิตจะยาวนานพอที่จะเห็นผลข้างเคียงจากยาเคมีได้ การติดตามโรคตลอดไปจึงสำคัญ ผลข้างเคียงเยอะมากครับ เอาที่รุนแรงและอันตรายคือ
ยาเคมีบำบัดอาจเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว leukemia ในอนาคตได้, เป็นหมัน, เจ็บเหมือนไฟฟ้าช็อตจากคอไปแขน (Lhermitte's syndrome) และการบาดเจ็บจากการฉายแสงเฉพาะที่
แต่เอาเถอะ ให้ยาคุ้มกว่า ผลข้างเคียงที่มี จัดการได้
ส่วนน้อยของ Hodgkin's Disease ที่เรียกว่า nplHL (nodular lymphocyte predominant Hodgkin's Lymphoma) จะมีลักษณะคล้ายมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮออจ์กินส์เสียมากกว่า จะใช้การรักษาแบบนอนฮอดจ์กินส์ก็ได้ หรือใน Hodgkin's Disease ระยะลุกลามหรือเกิดซ้ำ ก็ให้การรักษาแบบนอนฮอดจ์กินส์ได้เช่นกัน
กลับมาตอนนี้หลังจากที่บรูกส์เข้ารับการรักษา เขาเป็นแค่ระยะสองเท่านั้น เขากลับมาเล่นฟุตบอลได้ และลงสนามในเกมพรีเมียร์ลีกในเกมไปเยือนแอสตัน วิลล่า เขาได้รับการเปลี่ยนตัวลงมาแทน อดัม สมิธ ในนาทีที่ 79 พร้อมเสียงปรบมือกึกก้องจากแฟนบอลบอร์นมัธและวิลล่า และแฟนบอลทั่วโลก
บรูกส์เคยกล่าวว่า "เขาไม่เคยย่อท้อ เขาจะพยายามรักษาตัว และกลับมาคืนสนามอีกครั้งให้ได้"
จนวันนี้ บรูกส์ได้ทำสิ่งที่เขาตั้งใจไว้แล้วครับ
ขอปรบมือให้บรูกส์ และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกคนอย่ายอมแพ้กับสิ่งใด สู้ให้เต็มที่ แล้วคุณจะชนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม