กินกาแฟ กับ สุขภาพ
เช้านี้ New England Journal of Medicine ลงบทความนี้ หลายคนคงจะเบื่อกับหัวข้อถกเถียงอันไม่รู้จบสิ้นนี้ว่ากินกาแฟดีไหม กินเท่าไรจะไม่อันตราย ถ้าใครติดตามข่าวเรื่องนี้ จะพบว่ามีงานวิจัยออกมามากมายและผลการศึกษาก็แตกต่างกันมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) เพราะว่า
- เป็นการศึกษาแบบรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง อันนี้สำคัญ ส่วนมากไม่ได้เป็นการทดลองทางการแพทย์ เป็นแค่การเก็บข้อมูล ที่การรวบรวมกลุ่มต่างกัน ผลก็ต่างกัน
- ชนิด จำนวน ปริมาณ ของกาแฟที่ต่างกัน ก็ต่างกัน
- Recall bias เป็นสิ่งสำคัญ เพราะส่วนมากสอบถามจากความจำ คุณจำได้ไหม เมื่อเช้าใส่กาแฟกี่ช้อน
- วัดผลก็ต่างกัน ผลระยะสั้น ผลระยะยาว ผลที่วัดเป็นตัวเลขได้ง่ายหรือผลที่วัดผลเป็นตัวเลขไม่ได้
ตอนแรกก็จะเลื่อนผ่าน แต่พออ่านผลสรุปแล้วน่าสนใจ เพราะนี่เป็นการศึกษาทดลอง หมายถึงเขาจะคุมกลุ่มคน คุมชนิด ปริมาณ ของกาแฟได้ ควบคุมระยะเวลา และวัดผลเดียวกัน แม้ว่าจะเป็นกลุ่มการศึกษาเล็ก 100 คน และเป็นการ crossing over คือสลับกันทีละครั้ง กลุ่มนี้กาแฟแล้ววัดผล ในขณะอีกกลุ่มไม่กินแล้ววัดผล อีกสักพักมาสลับกัน
ผลที่วัดได้จะวัดแค่ผลระยะสั้นแค่สองสัปดาห์ แต่มันชัด คือ จำนวนคลื่นไฟ้าหัวใจที่เต้นผิดปกติออกไปโดยใช้เครื่องวัดติดตัว ระยะก้าวเดินที่วัดได้จากเครื่องวัด ผลต่อน้ำตาลในเลือดโดยใช้เครื่อง CGM คือวัดน้ำตาลตลอดทั้งวันใช้เครื่องติดตัวเลย แน่นอนมันจะใช้กลุ่มตัวอย่างเยอะไม่ได้ ของมันแพงและต้องใช้คนมากมายในการประมวลผล เลยใช้การสลับกลุ่มไงครับ
ผลออกมาคือ ทำในคนอายุประมาณ 40 ปี ไม่มีโรคประจำตัว พบว่าใจสั่นน้อยมากและต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มกินกาแฟ กลุ่มไม่กินหรือดีแคฟ ระยะทางก้าวเดิน หรือระดับน้ำตาล หรือนอนหลับ ก็ไม่ต่างกัน ถ้าคุณกินแต่พอดี ๆ กินไปเถอะครับ ใครกินแล้วรู้สึกไม่ดี ใจสั่น นอนไม่หลับ ก็อย่ากิน
(ผลการศึกษาออกมาไม่ได้เปลี่ยนคำแนะนำการกินกาแฟเสียเลย 555)
ผมไม่มีวารสารเต็ม จึงไม่ได้ลงลึก แต่อยากจะฝากข้อคิดไว้ว่า ผลการศึกษาที่ต่างกัน หรือเชื่อได้หรือไม่ ให้ไปดูความน่าเชื่อถือของการศึกษา โดยเฉพาะระเบียบวิธีวิจัยกันให้ดีนะครับ
คุณล่ะครับ เลือกกินหรือไม่กินคนชงกาแฟครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น