04 พฤษภาคม 2564

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดแต่ละตัวคิดคำนวณมาอย่างไร

ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดแต่ละตัวคิดคำนวณมาอย่างไร

ต้องบอกอีกครั้งว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนทุกตัวที่นำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินในระยะนี้ ที่เรานำมาพูดกัน เป็นตัวเลขที่มาจากงานวิจัยวัคซีนแบบ randomised controlled trials การศึกษาแบบทดลองทางการแพทย์ที่เรายอมรับมากที่สุดในการรักษา

ตัวเลข 95%, 80% มาจากการคำนวณตามสมการนี้

[1- (ติดเชื้อมีอาการในกลุ่มวัคซีน ÷ ติดเชื้อมีอาการในกลุ่มยาหลอก)] ×100%

เรามาพิจารณาทีละปัจจัย
  1. สิ่งที่นำมาคิดในเรื่องประสิทธิภาพคือ "การติดเชื้อแบบมีอาการ" ไม่ใช่การติดเชื้อทั้งหมดแต่อย่างใด จึงไม่สามารถแปลผลเรื่อง ป้องกันการติดโรคได้ แปลได้แต่ลดการเจ็บป่วยเมื่อติดโรค  เห็นว่าไม่มีลดการติดเชื้อโดยรวม ไม่มีลดอัตราตาย ไม่มีลดการใช้ทรัพยากร การแปลผลงานวิจัย ต้องแปลตรงตัว ห้ามเหาะเหินเกินลงกา
  2. สังเกตว่า การเปรียบเทียบนั้น เปรียบเทียบกับยาหลอก ไม่ได้เปรียบเทียบกันเองในวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ใช้ตัวเลขประสิทธิภาพของแต่ละตัวมาเกทับกันไม่ได้ ถ้าจะเทียบต้องเทียบระหว่างฉีดกับไม่ได้ฉีดวัคซีน
  3. จะมีคนสงสัยว่า ก็ตัวเปรียบเทียบเป็นยาหลอกเหมือนกัน ก็น่าจะเทียบกันได้สิ จริง ๆ แล้วเทียบไม่ได้อีกนั่นแหละครับ เพราะกลุ่มตัวอย่างของแต่ละวัคซีนต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอายุ เชื้อชาติ ภูมิอากาศ นโยบายการป้องกันกักกันโรคของแต่ละชาติ ความร่วมมือของประชาชน ชนิดของวัคซีน แทบจะไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นจะไม่ยุติธรรมสำหรับวัคซีนใดเลยหากจะมาเทียบกัน
    • ขอยกตัวอย่าง วัคซีน a ทำในประเทศ a1 ที่นโยบายการควบคุมโรคหละหลวม ย่อมมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่า วัคซีน b ที่ทำในประเทศ b1 ที่แต่ละบ้านแยกกันอยู่ชัดเจน การควบคุมเป๊ะมาก รัฐสนับสนุนทุกอย่าง โอกาสติดเชื้อจะต่ำกว่า 
    • วัคซีน a ทำวิจัยในช่วงแรกที่โรคระบาดเต็มที่ ไม่มีใครรู้วิธีป้องกัน แม้จะป้องกันดีที่สุดในเวลานั้น โอกาสคิดเชื้อย่อมสูงกว่า วัคซีน b ที่มาทำทีหลัง ผู้คนรู้จักมาตรการการควบคุมโรคดีแล้ว
  4. กรรมวิธีการรวบรวมงานวิจัยที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาคิดรวมกัน จะมีวิธีคิดที่เป็นระบบ ใช้หลักการทางสถิติที่ซับซ้อนเรียกว่า meta-analysis, systematic review เพื่อลดทอนความแปรปรวน ความแตกต่าง ให้ข้อมูลอันนั้นเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด (ซึ่งไม่ 100%)  แต่การเปรียบเทียบแบบที่เราเห็นในสื่อทุกวันนี้ เป็นการหยิบตัวเลขหัวมังกุท้ายมังกรมาเทียบกันโดยพื้นฐานแต่ละการศึกษาไม่เหมือนกันเลย
  5. "ถ้ามีวัคซีน เราคงไม่ตายเยอะขนาดนี้" หรือ "ถ้ามีวัคซีน น้าค่อมคงไม่เสียชีวิต" อันนี้ไม่ดราม่านะครับ แต่จะว่ากันตามข้อมูลจริงว่า การศึกษาวัคซีนโควิดที่มีปัจจุบันทุกชิ้นงาน ไม่ได้ตั้งเป้าการศึกษาลดอัตราการเสียชีวิตเลย จึงไม่สามารถนำอัตราการเสียชีวิตมาอ้างได้  อัตราการเสียชีวิตเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ไม่สามารถนำมาอ้างได้
  6. จากข้อ 5 การคำนวณจำนวนกลุ่มตัวอย่าง การกำหนดขอบเขตตัวเลขในการศึกษา มาจากคำถามที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยเพียงคำถามเดียว (primary endpoint) และผลงานวิจัยจะตอบคำถาม primary endpoint นั้นเพียงคำถามเดียว ทางสถิติวิจัยเรียกว่า "การทดสอบสมมุติฐาน" 
  7. หากเราจะหยิบการศึกษาใด มาปรับประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริงก็จะต้องประเมินว่า พอจะปรับได้หรือไม่ (external validity)  เข้ากับกลุ่มผู้ใช้ของเราได้แค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ยาตัวหนึ่งทำการศึกษาว่า ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ลง 90% ในกลุ่มคนที่เคยเป็นโรคมาแล้ว  ถ้าเราเลือกจะใช้ยานี้เพื่อป้องกันและหวังผลลดอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มคนที่ไม่เคยเป็นโรค ย่อมใช้ตัวเลขนี้และใช้งานวิจัยนี้ไม่ได้
น่าจะทำให้เราอ่านข่าววัคซีนโควิดได้เข้าใจมากขึ้น

1 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม