13 กรกฎาคม 2563

การส่งตรวจ สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) อาจเกิดผลเสียที่เกินกว่าเราคาดคิด

การส่งตรวจ สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) อาจเกิดผลเสียที่เกินกว่าเราคาดคิด
สารบ่งชี้มะเร็งเกือบทั้งหมด ออกแบบมาเพื่อตรวจติดตามโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะติดตามการดำเนินโรคหรือโอกาสเกิดซ้ำหลังจากรักษา ภายใต้เงื่อนไขว่าวินิจฉัยมะเร็งได้แล้วมาก่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาและเวชพันธุศาสตร์
การส่งตรวจโดยไม่มีข้อบ่งชี้ การส่งตรวจโดยโอกาสตั้งต้นที่จะเป็นโรคต่ำ (low pretest probability) จะทำให้แปลผลได้ยาก เพราะมันไม่มีความจำเพาะและความไว "สำหรับการวินิจฉัย" นอกจากนี้ยังทำให้เกิดผลเสียอื่นอีก โดยเฉพาะการขาดโอกาสรักษาโรคที่เป็นจริงขณะนั้น
เพื่อความเข้าใจ จึงขอยกตัวอย่างจากวารสาร JAMA internal medicine เมื่อ พฤษภาคม 2563 ดังนี้
หญิงอายุ 50 ปี ป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำและโรคลำไส้อักเสบ แต่ทั้งสามโรคได้รับการควบคุมอย่างดีแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารบ้าง น้ำหนักขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ปวดท้อง ไม่มีอาการทางช่องท้องแต่อย่างใด
มีการส่งตรวจ CA 19-9, CEA และ CA 125 โปรตีนในเลือดที่เราใช้กันเป็น tumor marker บ่อย ๆ ผลปรากฎว่า CA 125 ขึ้นสูงกว่าปรกติ ผู้ป่วยก็ได้รับการส่งไปตรวจหลายประการและหลายแผนก ผลปรากฏว่าไม่เจออะไร และสรุปว่าสาเหตุที่ผลเลือดขึ้นนั้น เป็นเหตุอันมาจากโรคอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง (มีอีกหลายภาวะที่ทำให้ CA125 ขึ้นสูง)​ เมื่อติดตามไปเรื่อย ๆ พบว่าค่า CA 125 ลดลงเอง และอาการอ่อนเพลียก็ดีขึ้นเมื่อการรักษาหัวใจล้มเหลวดีขึ้น
CA 125 เราอาจใช้ติดตามโรคหลังวินิจฉัยและรักษาได้ แต่ไม่สามารถใช้วินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ เพราะความไวและความจำเพาะน้อยมาก ยิ่งกับโรคมะเร็งรังไข่ระยะต้นยิ่งแทบไม่มีประโยชน์ ส่วนมะเร็งระยะท้ายก็จะมีความไวความจำเพาะมากขึ้น แต่ถึงตอนนั้นคงสามารถวินิจฉัยจากอาการ การตรวจร่างกายหรือการตรวจอัลตร้าซาวนด์ ได้ง่าย ๆ แม้แต่ผล CA 125 ไม่ขึ้นเราก็คงวินิจฉัยมะเร็งรังไข่จากหลักฐานอื่นที่หนักแน่นกว่ามาก
ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยต้องเสียเวลาในการหาสาเหตุของระดับ CA 125 ที่สูง โดยเสียโอกาสมาพิจารณาโรคเดิมว่ารักษาได้เต็มที่และดีขึ้นแล้วหรือยัง การตรวจที่ต้องทำก็เสียเวลา เสียเงิน และการตรวจหลายอย่างก็เสี่ยงอันตรายเช่น การส่องกล้อง การฉีดสีเพื่อถ่ายภาพ
ทำให้เสียประโยชน์และเสี่ยงมากขึ้น โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรมากขึ้น เพียงเพราะยึดถือผลการตรวจที่ไม่จำเพาะ ไม่ไว และ ไม่น่าส่งตั้งแต่แรก
ดังนั้น เราไม่ใช้สารบ่งชี้มะเร็ง tumor marker เพื่อคัดกรองหรือวินิจฉัยมะเร็งครับ
Mortaji P, Lebduska E. The Dangers of Using Tumor Markers to Evaluate Nonspecific Symptoms: A Teachable Moment. JAMA Intern Med. 2020;180(7):1004. doi:10.1001/jamainternmed.2020.1293

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม