โรคถุงลมโป่งพองแม้ว่าจะไม่หายขาด แต่การรักษาที่ดีจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และลดการกำเริบ การกำเริบของโรคแต่ละครั้ง นอกจากจะสูญเสียทรัพยากร เงิน เวลา สุขภาพ แล้วยังทำให้โรคถุงลมโป่งพองแย่ลงด้วย
การกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง (acute exacerbation) คือว่าเป็นตัวบ่งชี้ที่ไม่ดี สำหรับการดำเนินโรค ทั้งการจัดกลุ่มโรคเพื่อให้การรักษา และการพยากรณ์ผลจากโรคที่ไม่ดี
▪การจัดกลุ่มเพื่อการรักษาและปรับยา ตามแนวทางการรักษา GOLD ที่นิยมใช้กันทั่วโลก หากมีการกำเริบเกิดขึ้นก็จะต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว หนึ่งหรือสองชนิดพร้อมกัน หรือในผู้ป่วยบางรายต้องใช้ยาสูดสเตียรอยด์ร่วมด้วย และหากอาการเหนื่อยควบคุมได้ไม่ดี อาจจะต้องให้ยาเกือบทุกอย่างเพื่อช่วยป้องกันการกำเริบของโรค
▪การพยากรณ์โรคที่ไม่ดี จากการศึกษา ECLIPSE พบว่าหากมีการกำเริบหนึ่งครั้ง โอกาสกำเริบครั้งต่อไปจะเพิ่มขึ้น และหากกำเริบสองครั้งโอกาสกำเริบครั้งที่สามจะมากขึ้นไปอีก นอกจากโอกาสกำเริบซ้ำจะสูงขึ้นตามจำนวนครั้งที่เคยกำเริบมาเดิม ความรุนแรงของการกำเริบแต่ละครั้งก็ส่งผลต่อผลลัพธ์ของโรคที่แย่ลง ยิ่งความรุนแรงมาก ผลลัพธ์ของโรคก็ไม่ดี
นั่นคือเหตุผลที่เราไม่ต้องการให้โรคกำเริบ และควบคุมโรคให้ดี มันคุ้มกว่าจะมาแก้ไข
แล้วความหมายของโรคกำเริบคืออะไร ... ไม่ได้หมายถึงหอบมากจนต้องหามเข้าห้องฉุกเฉินเท่านั้น ตามคำจำกัดความของ GOLD 2019 บอกว่า การกำเริบของโรค (acute exacerbation) คือมีอาการที่แย่ลงจนต้องให้การรักษาเพิ่มเติมจากเดิม อาการนั้นมีได้ทั้ง ไอ เหนื่อย หอบมีเสียงวี้ด เสมหะมากขึ้น แน่นหน้าอก ...ไม่ได้หมายถึงหอบมากจนต้องใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจเท่านั้น... และยังแบ่งระดับความรุนแรงออกได้สามระดับ
1. ระดับไม่มาก (mild) คือมีอาการแย่ลง แต่ใช้ยาสูดขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์สั้นที่ใช้แก้ไขอาการเฉียบพลันก็ดีขึ้นได้ อันนี้อาจจะเกิดที่บ้านก็ได้นะครับ เวลาประเมินว่าโรคกำเริบหรือไม่ ต้องถามลึกมาถึงรายละเอียดตรงนี้ด้วย
2. ระดับอาการปานกลาง (moderate) อาการแย่ลงต้องใช้ยาสูดขยายหลอดลมเหมือนข้อหนึ่ง และต้องให้ยาฆ่าเชื้อหรือเพิ่มยาสเตียรอยด์ต้านการอักเสบจึงจะดีขึ้น อันนี้ส่วนมากจะชัดเพราะต้องมาโรงพยาบาลหรือคลินิก แต่อาจไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
3. อาการรุนแรง (severe) อันนี้ชัดเจน หอบมากต้องพามาโรงพยาบาลพ่นยาห้องฉุกเฉินก็แล้วยังไม่ดีขึ้น ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล บางคนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจหรือใส่ท่อช่วยหายใจเลย เรียกว่า ระบบหายใจล้มเหลว (respiratory failure) ถ้ากำเริบระดับนี้ไม่ต้องหลายครั้งก็อันตราย
การกำเริบตั้งแต่สองครั้งต่อปี ถือว่าเป็นการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี และการเรียกผู้ป่วยถุงลมโป่งพองที่เสี่ยงสูง ต้องให้การรักษาเข้มข้นก็จะใช้การกำเริบเป็นหนึ่งในตัวชี้บ่งคือ
• กำเริบระดับไม่มากหรือปานกลาง ตั้งแต่สองครั้งต่อปี
• กำเริบรุนแรง เพียงครั้งเดียวต่อปี
• กำเริบระดับไม่มากหรือปานกลาง ตั้งแต่สองครั้งต่อปี
• กำเริบรุนแรง เพียงครั้งเดียวต่อปี
ดังนั้นการติดตามการรักษา การปรับยาและเลือกชนิดยาอย่างต่อเนื่อง การสูดยาที่ถูก เลิกบุหรี่ และฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จึงมีความสำคัญมากเพราะช่วยลดการกำเริบนั่นเองครับ
1.Çolak Y, Afzal S, Marott JL, et al. Prognosis of COPD depends on severity of exacerbation history: A population-based analysis. Respir Med. 2019;155:141‐147.
2.Evaluation of COPD Longitudinally to Identify Predictive Surrogate End-points (ECLIPSE) J. Vestbo, W. Anderson, H. O. Coxson, C. Crim, F. Dawber, L. Edwards, G. Hagan, K. Knobil, D. A. Lomas, W. MacNee, E. K. Silverman, R. Tal-Singer, on behalf of the ECLIPSE investigators European Respiratory Journal Apr 2008, 31 (4) 869-873;
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น