สารน้ำที่ใช้หยดเจ้าหลอดเลือด ... หรือน้ำเกลือ ที่เราเรียกกัน
น้ำเกลือ (normal saline) เป็นสารละลายโซเดียมคลอไรด์ สัดส่วน 0.9% w/v เมื่อผสมสัดส่วนนี้จะมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับเลือดในตัว ใกล้เคียงกับความเข้มข้นของเซลล์ เราเรียกสารน้ำแบบนี้ว่า isotonic solution คือ ความเข้มข้นสารละลายพอ ๆ กับเซลล์และเลือด สามารถใช้เพิ่มปริมาณเลือดและเพิ่มการไหลเวียนสารน้ำในตัวได้ มีการซึมซาบผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์ในส่วนต่าง ๆ ได้
แต่สารละลายที่ใช้มีเพียง NaCl หรือเกลือแกง เท่านั้น ใครที่คิดว่าอ่อนเพลียแล้วให้น้ำเกลือจะดีขึ้น คิดผิดถนัด จะต้องเป็นการขาดสารน้ำจึงจะดีขึ้น เช่น ช็อค ถ่ายเหลวรุนแรง เสียเลือด แต่ทว่าเซลล์และอวัยวะในร่างกาย ไม่ได้ใช้แค่โซเดียมคลอไรด์เท่านั้นในการรักษาสมดุล และปัจจุบันเริ่มมีหลักฐานมากขึ้นว่าการชดเชยสารน้ำโดยใข้โซเดียมคลอไรด์ ในการแก้ไขช็อค อาจเกิดอันตรายต่อไตได้เพราะคลอไรด์ที่มากเกินไป
แล้วเกลือแร่อิเล็กโทรไลต์ตัวอื่น หากใส่เข้าไปเพิ่มจะช่วยมากขึ้นไหม
แน่นอนสำหรับการศึกษาในระบบไหลเวียนมหภาคเช่นช็อก เราพบว่าหากใช้สารน้ำที่มีเกลือแร่ใกล้เคียงกับเลือด จะสามารถลดอันตรายต่อไตได้ และสารน้ำที่ว่ายังสามารถสร้างสมดุลความเป็นกรดด่างในเลือดได้ดีกว่าโซเดียมคลอไรด์อีกด้วย
ในปี 1882 (เอาแล้ว ลุงหมอเริ่มรำลึกความหลังอีกแล้ว) มีการทดลองเรื่องสรีรวิทยาของเซลล์มากมาย แต่เป็นการศึกษานอกร่างกายสิ่งมีชีวิต เช่น ดูการทำงานกล้ามเนื้อ ดูการทำงานของหัวใจ โดยเอาออกมาดูนอกร่างกาย !!!
ใจเย็น ๆ ไม่ใช่กับคน แต่กับสัตว์ทดลอง และสัตว์ทดลองยอดนิยมนั้นคือ "กบ" ตัวผมเองยังเคยทดลองเลยสมัยเรียนแพทย์ เขาจะเอาหัวใจของกบออกมา แล้วมาศึกษา ปัญหาคือ หัวใจมันจะอยู่ได้รึ หากนำออกมา
การทดลองสมัยกลางศตวรรษที่ 19 ส่วนมากอยู่ที่เยอรมัน มีการทดลองโดยใช้ normal saline นี่แหละมาหล่อเลี้ยงหัวใจของกบ พบว่ามันไม่ได้ทำให้หัวใจกบทำงานได้ปรกติ แต่ถ้าผสมเลือด อัลบูมิน จะทำให้การทำงานดีขึ้น อยู่นอกตัวนานขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นหากใส่สารละลายแตลเซียมคลอไรด์เข้าไป ยังสามารถทำให้หัวใจกบบีบตัวได้ดีกว่าตอนใช้ NaCl เพียงอย่างเดียว
จากการทดลองอันนี้เป็นที่มาของการผสมสารละลายตัวใหม่ โซเดียมคลอไรด์ โปตัสเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ โซเดียมไบคาร์บอเนต ผสมจนได้สัดส่วนพอเหมาะกับการทำงานของเซลล์สัตว์ และต่อมาก็เป็นเซลล์มนุษย์ พบว่าสารละลายที่มีเกลืออิเล็กโตรไลต์หลายชนิดนี้ สามารถธำรงการทำงานของเซลล์ได้ดีกว่าโซเดียมคลอไรด์
ปี 1885 โลกก็ได้รู้จักสารละลายตัวนี้ มีการใช้ต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบันในชื่อ Ringer's Solution เป็นเกียรติให้กับ Sydney Ringer แพทน์และนักสรีรวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ศึกษาและค้นพบ Ringer's solution
..หากเราทดแทน โซเดียมไบคาร์บอเนต ด้วย โซเดียม แลตเตต เราจะได้สารละลายที่ชื่อ Lactated Ringer's Solution ที่เราใช้กันนั่นเอง ..
"แก้ช็อคเราใช้ริงเกอร์ คิดถึงเธอคงไม่มีอะไรมากั้น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น