25 พฤษภาคม 2563

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่กลับมาอีกครั้ง : สรุปแบบบ้าน ๆ จาก NEJM

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่กลับมาอีกครั้ง : สรุปแบบบ้าน ๆ จาก NEJM
Shigella : มันคือแบคทีเรียก่อโรคลำไส้อักเสบ แต่มาเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพราะการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักพบแพร่หลายมากขึ้น สามารถติดเชื้อลามไปถึงลำไส้ได้ ข้อสำคัญคือมันดื้อยามากแล้ว ทั้ง azithromycin และ ciprofloxacin การรักษาต้องดูข้อมูลการดื้อยาของแต่ละประเทศ วิธีป้องกันที่ดีคือ สวมถุงยางอนามัย
Hepatitis A : ไวรัสตับอักเสบเอ จากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเช่นกัน หรือมีการปนเปื้อนมาที่มือและเข้าสู่ปาก แม้โรคนี้จะไม่เรื้อรังแต่บางคนป่วยเฉียบพลันรุนแรงได้ วิธีป้องกันในประเทศที่มีคนติดเชื้อไม่มากคือฉีดวัคซีน แต่บ้านเราติดกันเกือบหมด การสวมถุงยางและการรักษาอนามัยส่วนตัว ล้างมือ มีความสำคัญต่อเนื่อง
โรคติดต่อที่เรียกว่า fecal-oral route คือปากและทวารหนักนี้พบมากขึ้นตามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น
Neiseria meningitides : ไข้กาฬหลังแอ่น เครือญาติกับเชื้อหนองใน สามารถติดได้เช่นกันด้วยวิธีทั้งเพศสัมพันธ์ปรกติ ทางทวารหนัก หรือทางปาก การติดเชื้อเป็นได้ทั้งมีหนองแบบหนองใน รักษาหายได้แบบหนองใน และติดเชื้อแบบกาฬหลังแอ่น แม้รุนแรงแต่พบน้อยกว่ามาก โดยต้องแยกกันจากการระบุเชื้อหรือสารพันธุกรรม
Lymphogranuloma venereum : ฝีมะม่วง จากเชื้อ chlamydia trachomatis serovar L1 L2 L3 เชื้อแพร่กระจายทางหลอดน้ำเหลืองและทำให้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโตขึ้นที่เราเรียกว่า "ฝีมะม่วง" แต่ปัจจุบันเราอาจต้องตรวจในกลุ่มอาการทวารอักเสบ ติดเชื้ออุ้งเชิงกราน เนื่องจากโรคมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อีกกลุ่มคือไม่สวมถุงยางอนามัย และปัจจุบันใข้วิธีการตรวจสารพันธุกรรมระบุชนิดเชื้อ C.trachomatis เพื่อระบุโรคนี้ ส่วนการรักษาจะใช้ยา doxycycline เป็นเวลา 21 วัน
Mycoplasma genitalium : พบมากขึ้นในยุคหนองในกลับมาระบาด และต้องคิดถึงเชื้อนี้ในชายที่มีท่อปัสสาวะอักเสบมีหนอง หรือหญิงที่ติดเชื้ออุ้งเชิงกราน กลุ่มชายรักชาย เชื้อนี้เพาะเชื้อแทบไม่ขึ้นจึงต้องส่งตรวจหาสารพันธุกรรมเช่นกัน ในการตรวจหาสารพันธุกรรมจะตรวจหายีนดื้อยาด้วยทั้ง 23s ribosomal RNA สำหรับการดื้อยา macro และ parC, gyrA gene สำหรับการดื้อยา fluoroquinolones เนื่องจากอุบัติการณ์การดื้อยาสูงมากนั่นเอง แนะนำใช้ยาทั้ง azithromycin และ quinolones คู่กันในระหว่างรอผลการตรวจทางพันธุกรรม
Zika virus : เชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับไข้เลือดออก ติดต่อทางยุงชนิดเดียวกับไข้เลือดออก อาการเหมือนไข้เลือดออกแต่จะไม่รุนแรงและไม่มีสารน้ำรั่วออกนอกหลอดเลือด อาการป่วยจะหายเองได้ เราพบว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อนี้หากตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่ติดเชื้อจะทำให้ทารกมีภาวะหัวเล็กได้ (ไม่ใช่ทุกคน แค่เพิ่มโอกาส) และเนื่องจากพบเชื้อนี้ในอสุจิคนที่เคยเป็นโรค และพบได้ยาวนานเฉลี่ยเดือนครึ่ง (การตรวจพบไม่ได้หมายถึงเชื้อจะยังมีชีวิตนะครับ อาจเป็นซากเชื้อก็ได้)
■ คำแนะนำคือ หากเข้าไปในแดนระบาดแล้วหรือเสี่ยงติดเชื้อแล้ว ควรสวมถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์อย่างน้อยสามเดือน
■ หรืองดเว้นเพศสัมพันธ์อย่างน้อยสองเดือน
■ หรือคุมกำเนิดอย่างน้อยสองเดือน
แต่นี่คือคำแนะนำในประเทศที่ไม่ได้เป็นแดนระบาดของโรค ส่วนไทยเราเป็นถิ่นที่อยู่ของซิกามานาน ไม่มีคำแนะนำในวารสารนี้ ในส่วนตัวของผม โรคนี้ติดต่อทางยุงเป็นหลัก ที่ว่าพบติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นน้อยมาก ก็แค่อย่าเพิ่งทำลูกหลังป่วยไม่ทราบสาเหตุสักสองเดือนก็พอครับ
Ebola virus : โรคนี้ติดต่อทางการสัมผัสใกล้ชิด รายงานการพบเชื้อในสารคัดหลั่งช่องคลอดและอสุจิ อันเป็นสาเหตุของการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบได้ถึง 5 เดือนหลังจากติดเชื้อ แต่เนื่องจากระบาดเป็นวงแคบ ในพื้นที่จำกัด อัตราการเสียชีวิตสูงมาก คนที่รอดมามีไม่มาก คำแนะนำจึงออกมาว่าหลังจากหายป่วย ให้ตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้ออีโบล่าในอสุจิไปอย่างน้อย สามเดือน จนกว่าจะตรวจไม่พบจึงปลอดภัย
Trepanoma pallidum : ซิฟิลิสนั่นเอง กลับมาระบาดอีกในยุคเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่กินยาป้องกัน HIV แบบกินก่อนเกิดโรค (Pre-Exposure Prophylaxis) รอยโรคแม้สังเกตดี ๆ จะแยกจากเชื้อเริมได้ แต่คำแนะนำให้ตรวจแยกโรคจากแผลโดยใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมเลย โดยเฉพาะแผลที่ไม่ได้เป็นจุดสัมผัสการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการติด ให้การรักษาเร็ว ลดโอกาสเด็กทารกติดเชื้อซิฟิลิสแต่กำเนิดอีกด้วย
Neiseria gonorhea : หนองในแท้ กลับมาเป็นมากอีกครั้ง และไม่ได้มาในรูปหนองในท่อปัสสาวะหรือปวดข้อเท่านั้น อาจมาในรูปคอเป็นหนอง คออักเสบ ทวารหนักอักเสบติดเชื้อ ตามรูปแบบการมีเพศสัมพันธ์ที่หลากหลายออกไป ต้องคิดถึงเชื้อนี้เสมอและแยกจากเชื้ออื่น ๆ ข้างต้น แต่ปัญหาสำคัญของหนองในคือเชื้อดื้อยามาตรฐานของการรักษาในอดีตคือ ceftriaxone และ azithromycin ไปหมดแล้ว การรักษาจึงต้องใช้ยา ceftriaxone ในขนาดสูงขึ้นเป็น 250-500 มิลลิกรัมฉีดเข้ากล้าม และอย่าลืมรักษาคู่สัมพันธ์ด้วย (แหล่งดื้อยาคือ เอเชียตะวันออกไกล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ !!)
สรุปว่า การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ กลับมาอีกครั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น และใช้ถุงยางอนามัยลดลง สามารถพบได้หลายอาการและในหลายอวัยวะมากขึ้น หลายอาการทางทวารหนักและลำคอ อาจต้องคิดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดอาการ การรักษาที่เหมาะสมช่วยลดการดื้อยา วิธีที่กำลังใช้มากคือการตรวจวินิจฉัยและตรวจหาการดื้อยาด้วยการตรวจสารพันธุกรรม
แต่ที่สำคัญกว่าคือ การป้องกันโดยการสวมถุงยางอนามัยเวลาที่มีเพศสัมพันธ์และการวางแผนครอบครัวที่ดีครับ
ที่มา (เสียเงินนะครับ)
N Engl J Med 2020;382:2023-32.
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMra1907194…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม