คำแนะนำการหยุดสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับผ่าตัด
เมื่อต้องผ่าตัด จะต้องมีการเตรียมตัวผู้ป่วย หนึ่งในการเตรียมตัวคือประวัติเรื่องโรคปอดและทางเดินหายใจ และประวัติการสูบบุหรี่
ในแง่การดมยาสลบ การใส่ท่อช่วยหายใจ การถอดเครื่องช่วยหายใจ : ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดหลอดลมตีบแคบ มีโอกาสเกิดเสมหะมากจนขัดขวางการใส่หรือถอดท่อช่วยหายใจได้ ยิ่งเป็นผู้ที่สูบบุหรี่มานานหรือถุงลมโป่งพองไปแล้วยิ่งเสี่ยงมาก
ในแง่วิธีและตำแหน่งการผ่าตัด : การผ่าตัดหัวใจและทรวงอก (cardiovascular thoracic surgery) มีการศึกษาชัดเจนว่าหากหยุดบุหรี่ก่อนผ่าตัด จะช่วยลดผลแทรกซ้อนทางปอด ในระยะหลังผ่าตัดลงได้ โดยความเสี่ยงจะเทียบเท่ากับคนไม่สูบบุหรี่เลย ตัวเลขจากการศึกษาคือ 4-8 สัปดาห์ ยิ่งหยุดนานยิ่งดี
*** ขอแถม ไหน ๆ ก็หยุดเพื่อจะผ่าตัดแล้วมาเกือบสองเดือนแล้ว หยุดไปตลอดเลยก็ดี ***
สำหรับการผ่าตัดอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การผ่าตัดหัวใจและทรวงอก การหยุดสูบบุหรี่นั้น ลดผลแทรกซ้อนทางปอดและทางเดินหายใจ ในช่วงหลังผ่าตัด เพียงแต่การลดลงนี้ไม่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ ต่างจากการผ่าตัดทรวงอก (แต่ก็ลดลง 24% เชียวนะ)
คำแนะนำทั่วไปคือให้หยุดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัด ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ในกรณีผ่าตัดแบบ elective คือรอได้ ผมอยากให้ทบทวนอีกนิดว่า หากคุณยังสูบบุหรี่อยู่และมันจะต้องผ่าตัด ถ้าไม่สามารถรอได้ถึง 4 สัปดาห์ล่ะ ความเสี่ยงจะเพิ่มทันที ดังนั้นเราจึงควรหยุดบุหรี่ตั้งแต่วันนี้เลย ..จริงไหม
ที่มา
Am J Med. 2011 Feb;124(2):144-154.e8
Mayo Clin Proc. 1989 Jun;64(6):609-16.
Arch Intern Med. 2011 Jun 13;171(11):983-9.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น