เรื่องราวของน้ำมันมะพร้าว ยังมีออกมาเรื่อย ๆ
ผมเองเคยรีวิวน้ำมันมะพร้าวแบบละเอียดไปแล้วหนึ่งรอบ และกล่าวถึงไขมันอิ่มตัวไปแล้วหลายรอบ มาพบเนื้อความในวารสารนี้อีกครั้งเลยนำมาเล่าสรุปอีกครั้ง ใน medical news & perpsective ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ฉบับวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาโดย Jennifer Abbasi
นำเสนอการศึกษาที่เรียกว่า meta analysis คือนำการศึกษาทดลองที่คล้ายกันมารวมกันเพื่อให้ได้ขนาดการศึกษาที่ใหญ่ขึ้น เป็นการศึกษาในสิงคโปร์ รวบรวมได้ 17 การศึกษาและจำนวน 730 คน เป็นการศึกษาที่จะต้องมีการเปรียบเทียบน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันอื่น ๆ ที่เรียกว่า nontropical oil เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันกราโนล่า น้ำมันพวกนี้จะมีองค์ประกอบส่วนมากเป็นไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่า
ผลปรากฏว่า น้ำมันมะพร้าว (ที่มีส่วนประกอบหลักคือไขมันอิ่มตัวสายยาวปานกลาง) เพิ่ม LDL, Cholesterol, HDL แต่เรื่องการสันดาปน้ำตาล เรื่องระดับไตรกลีเซอไรด์ การอักเสบต่าง ๆ ของหลอดเลือดดูไม่แตกต่างกันนัก
หลังจากนั้นเขานำระดับ LDL ที่เพิ่มนี้มา**คำนวณ**เป็นความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ พบว่าระดับ LDL ที่เพิ่มมาประมาณ 10 นี้แปลเป็นเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดที่เพิ่มมากกว่าไขมันไม่อิ่มตัว 6% และเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าอีกกลุ่ม 5.4% (จะเห็นว่าไม่ได้วัดตรง ๆ นะครับ !!)
ข้อเด่นของการศึกษานี้คือเป็นการเปรียบเทียบโดยตรงระหว่าง น้ำมันมะพร้าว กับ น้ำมันอื่น ๆ ไม่ได้เปรียบแบบอ้อมว่า น้ำมันมะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวเป็นหลัก และ ไขมันอิ่มตัวเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดมากกว่า ดังนั้น น้ำมันมะพร้าวจึงเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดได้มากกว่าเช่นกัน
ข้อจำกัดคือ มันมีตัวเปรียบเทียบหลายตัวและมีความแปรปรวนในแต่ละการศึกษามาก
แล้วพอเรารู้เรื่องราวต่าง ๆ แบบนี้ เราจะสรุปว่าอย่างไรดี
▪ยังไม่สามารถบอกได้ว่า น้ำมันมะพร้าว คือ น้ำมันที่มีผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือด
▪น้ำมันมะพร้าวมีไขมันสายกลาง ที่ดูดซึมได้ดี เหมาะกับคนที่ดูดซึมไขมันได้ลำบากโดยเฉพาะ โรคตับและทางเดินน้ำดี แต่หากบริโรคปริมาณมากเกินไปก็เกิดผลเสียได้เช่นกัน
▪การศึกษานี้เทียบผลเรื่องระดับไขมันที่เปลี่ยนแปลง ระหว่างน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันชนิดอื่นแบบตรง ๆ แม้น้ำมันมะพร้าวจะเพิ่ม LDL แต่น้ำมันชนิดอื่นก็เพิ่มเช่นกัน เพียงแต่ไม่มากเท่า ...บ่งบอกว่า ปริมาณการบริโภคมีความสำคัญ แม้จะบริโภคน้ำมันที่ดีต่อหัวใจแค่ไหน ถ้าบริโภคมากไปก็ไม่ดี
▪ส่วน HDL ที่เพิ่มนั้น ปัจจุบันยังมีหลักฐานน้อยมากว่าจะไปลดโรคหัวใจและหลอดเลือด
อ้อ น้ำมันทุกชนิดมีทั้งไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวอยู่ปนกัน ต่างกันที่สัดส่วนเท่านั้น ดังนั้น ปริมาณการกินสำคัญอันดับหนึ่ง ชนิดไขมันสำคัญอันดับสอง
ณ ข้อมูลปัจจุบัน สรุปว่า ไม่ควรบริโภคไขมันมากเกินไป ใช้ไขมันอิ่มตัวให้ลดลง ชดเชยส่วนที่ลดลงด้วยไขมันไม่อิ่มตัวครับ
อ่านเรื่อง น้ำมันมะพร้าวฉบับเต็มได้ที่
https://medicine4layman.blogspot.com/20…/…/blog-post_13.html
https://medicine4layman.blogspot.com/20…/…/blog-post_13.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น