02 พฤษภาคม 2563

ความแม่นยำของการวัดอุณหภูมิกาย

"สวัสดีค่ะ ขอตรวจวัดอุณหภูมินะคะ 

ปิ๊บ ๆ ๆ 35 ค่ะ ไม่มีไข้นะคะ เชิญเข้าร้านได้ค่ะ" 

กำลังคิดว่าตัวเองเป็นไอซ์แมนเพราะอุณหภูมิต่ำเหลือเกิน จากเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิพื้นผิว และนี่คือเหตุที่การวัดไข้ทางการแพทย์ต้องใช้เทอร์โมมิเตอร์ที่แม่นยำ 

การใช้เครื่องตรวจวัดแบบที่คุณเห็น จะยิงหน้าผาก ยิงขมับ หากค่าที่อ่านได้อุณภูมิสูงจริงมันน่าจะเป็นของจริง ไม่ว่าจะสูงเพราะมีไข้ สูงเพราะเพิ่งขี่มอไซค์ฝ่าแดด สูงเพราะหัวร้อน (ดังนั้นเวลาสัมภาษณ์ต้องอยู่ห่างนิดนึง เดี๋ยวโดยโพเดี้ยม) จะสูงเพราะอะไรก็ไปว่ากัน

แต่ถ้าวัดออกมาได้ต่ำ อันนี้ต้องระวังว่าอาจจะต่ำปลอม จากกลไกบกพร่อง จากการใช้ที่ไม่ถูกต้อง วิธีที่ดีคือวัดซ้ำ หรือเปลี่ยนอุปกรณ์วัดไข้ให้แม่นยำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวัดทางรูหู หรือใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้แบบปรอท ด้วยวิธีที่ถูกต้องและนานพอ 3-5 นาที เพื่อยืนยันอุณหภูมิและคำจำกัดความว่ามีไข้หรือไม่

หรือเวลาเราซื้อเทอร์โมมิเตอร์ดิจิตอล หากหนีบไม่แนบชิดแนบแน่นนานพอ มันอาจจะอ่านค่าต่ำกว่าความจริงได้  ถ้าจับตัวดูร้อน ๆ หรือรู้สึกว่าตัวเองตัวร้อน ลองวัดใหม่อีกครั้งหรือเปลี่ยนเป็นเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอท  คงไม่ถึงขั้นต้องใส่ตัววัดทางหลอดอาหารแบบทำ therapeutic hypothermia 

และการยืนยันการมีไข้เพื่อที่จะเข้ารับการรักษานั้น จะต้องใช้อุปกรณ์มาตรฐานครับ เจ้าเครื่องที่ยิงปิ๊บ ๆ ก่อนเข้าร้านเขาเอาไว้กรองว่าอุณหภูมิสูงหรือไม่ ไม่ได้ใช้เพื่อตรวจรักษา วัตถุประสงค์มันต่างกันครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม