ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการ มันคืออะไร
คำว่า subclinical คือไม่มีอาการ prefix SUB- คือต่ำกว่า น้อยกว่า ในที่นี้หมายถึงยังไม่มีอาการทางคลินิกที่ชัดเจนของฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ อาการนั้นเช่น อ้วนฉุ เชื่องช้า ท้องผูก หมดความสนใจในสรรพสิ่ง หรืออาจจะมีอาการเล็กน้อยซึ่งไม่หนักแน่นพอจะอธิบายว่าเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน
ดังนั้นภาวะ subclinical hypothyroidism จึงเป็นภาวะที่วินิจฉัยจากการตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนเท่านั้น สิ่งที่จะพบคือระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปรกติดี แต่ฮอร์โมนที่มากระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์จากต่อมใต้สมองจะสูงขึ้น (Thyroid Stimulating Hormone : TSH) นั่นคือการทำงานมันลดลงนั่นแหละแต่ร่างกายสามารถตรวจจับได้เร็วและแก้ไขได้ก่อนที่จะเกิดอาการ ก่อนที่จะตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (overt hypothyroidism)
ความสำคัญคือ ยิ่งค่า TSH สูง แสดงว่ามีการกระตุ้นมาก นั่นคือโอกาสที่จะกลายเป็นไทรอยด์ต่ำที่แท้จริง ที่มีอาการ ยิ่งสูงขึ้น ดังนั้นอาจจะต้องหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดไทรอยด์ต่ำ เช่น เคยผ่าตัดคอ เคยฉายแสงที่คอ หรืออาจเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่จับทำลายต่อมไทรอยด์
การติดตามผลเลือดจึงมีความสำคัญ ปรกติก็ติดตาม 6-12 เดือน ไทรอยด์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วหากติดตามเร็วไปอาจจะแปลผลผิดพลาดได้ ติดตามโดนใช้ค่าเลือด TSH ที่มีความไวต่อการการเปลี่ยนแปลงระดับไทรอยด์ที่รวดเร็ว และค่าไม่ได้กว้างจนแปลผลยากเหมือนฮอร์โมนไทรอยด์ (free T4, free T3)
แต่หากค่า TSH เกิน 10 คุณหมออาจจะพิจารณาให้ยาไทรอยด์ฮอร์โมนชดเชย ส่วนใหญ่จะให้ในขนาดต่ำเพราะอย่าลืมว่าร่างกายยังชดเชยได้บ้าง และการให้ยาฮอร์โมนไททรอยด์ก็ไม่ง่ายเท่าไร เนื่องจากมีปฏิกิริยาระหว่างยาและอาหารมากมาย ต้องติดตามการรักษาต่อเนื่อง ยิ่งในผู้สูงวัยจะต้องระวังใจสั่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
ในกรณีค่า TSH ไม่เกิน 10 เป็นการพิจารณาเป็นรายคน อาจให้ยาเมื่อมีอาการเล็กน้อยให้ยาแล้วดีขึ้น หรืออาจจะแค่ติดตามผลว่าโอกาสจะเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำจริง ๆ และมีอาการเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะสามารถไปเริ่มรักษาตอนที่ถึงเกณฑ์รักษาก็ได้ หลาย ๆ ครั้งที่ฮอร์โมนไทรอยด์ลดลงจากเหตุใด ๆ แล้วเหตุนั้นหายไปเอง ฮอร์โมนทุกตัวก็กลับมาเป็นปรกติ ภาวะฮอร์โมนในร่างกายเป็นพลวัต เป็นไดนามิก ต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องครับ
ข้อคิดสำคัญของเรื่องนี้คือ ไม่สามารถใช้ผลการตรวจเลือดอย่างเดียวมาวินิจฉัยและรักษาโรคได้ ยิ่งในกรณีแบบนี้หากไม่พิจารณาประวัติและการตรวจร่างกายจะเกิดความผิดพลาดและสับสนได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น