Typhoid Mary สำนวนเชิงลบที่ใช้พาดพิง คน สัตว์ เหตุการณ์ที่เป็นต้นกำเนิดการเกิดสิ่งเลวร้ายอันแพร่กระจายในวงกว้าง สำนวนนี้มีที่มาจากโรคไทฟอยด์นี่เอง ไปชงกาแฟอุ่น ๆ และขนมปังนุ่ม ๆ นั่งที่เงียบ ๆ แล้วอ่านไปพร้อมกัน
ย้อนกลับไปถึงการค้นพบว่าไทฟอยด์ต่างจากไทฟัส เกิดจากเชื้อคนละตัว ระบุตัวเชื้อและตั้งชื่อ Salmonella เป็นเกียรติกับ Daniel Elmer Salmon ในปี 1900 หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถระบุเชื้อซัลโมเนลล่าได้หลายสปีชี่ส์มาก รวมทั้ง ซัลโมเนลล่า ไทฟี่ เชื้อที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์ในมนุษย์ มีการระบาดของไทฟอยด์เป็นครั้งคราวในอเมริกา (จริง ๆ ถ้าไปศึกษาในอินเดีย เนปาล ปากีสถาน อาจจะพบว่าระบาดตลอดเวลา) เรื่องราวมาน่าสนใจในปี 1907 นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
มารู้จัก Mary Mallon กันก่อน เธอเป็นสุภาพสตรีชาวไอร์แลนด์ เกิดที่สหราชอาณาจักรและย้ายมาทำมาหากินที่สหรัฐอเมริกา เธอมีความสามารถในการทำอาหารจึงประกอบอาชีพแม่ครัว สมัยนั้นอาชีพแม่ครัวถือเป็นอาชีพที่รายได้ดี มีคนนับหน้าถือตามาก เพราะการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมยังรุนแรง ร้านอาหารมีราคาแพง คนที่จะมากินอาหารตามร้านและมีแม่ครัวมาประกอบอาหารให้ต้องมีสตางค์พอสมควร คุณแมรี่ก็ประกอบอาชีพแม่ครัวและประสบความสำเร็จปานกลาง
สิ่งที่น่าสงสัยคือ เมื่อเธอไปทำงานที่ร้านไหนก็มักจะมีเหตุการณ์ผู้ป่วยไทฟอยด์อยู่แถว ๆ นั้นเพิ่มขึ้นเสมอ ๆ และเธอมักจะเปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ ก่อนการสืบสวนโรคจะเริ่มขึ้น ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เธอตกเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น ไม่มีการกล่าวถึงการมาทำงานของแม่ครัวคนใหม่และเกิดเหตุระบาดตามมาถึงหกเจ็ดครั้ง
อ่านมาถึงตรงนี้เหมือนกับแมรี่จะรู้ตัว เหมือนทฤษฎีสมคบคิดเลย แต่ว่าไม่หรอก ทำไมล่ะ อ่านกันต่อ
เรื่องราวมาถึงปี 1907 ครอบครัวนายธนาคารชื่อดังของนิวยอร์ก เช่าบ้านหลังหนึ่งแล้วพาเพื่อนฝูงไปพักร้อนริมทะเลสาบ นายธนาคารสมัยนั้นรวยมากนะครับ จึงจ้างคนมารับใช้ จ้างคนมาดูแลเรื่องอาหารการกิน ท่านรู้ไหมว่าใครที่ได้รับการว่าจ้างไปดูแลเรื่องอาหาร ..ใช่แล้ว แมรี่ แมลลอน นั่นเอง ไปพักร้อนกันสิบกว่าวัน อาหารไม่อั้น ข้าวปลาหมูเห็ดเป็ดไก่ ผลหมากรากไม้ทั้งกัญชงกัญชา เพียบ
หลังจากนั้นครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไปพักร้อนด้วยกันป่วยเป็นไทฟอยด์ อย่าลืมว่าสมัยนั้นเรารู้จักไทฟอยด์กันแล้วนะครับ และมีผู้เสียชีวิตด้วย การสืบสวนเริ่มขึ้น แต่คราวนี้ต่างจากครั้งที่ผ่านมา
George Sober หนึ่งในทีมสืบสวนโรคที่นายธนาคารจ้างมาเป็นพิเศษ เพราะว่าคุณโซเบอร์มีความรู้เรื่องระบบการจัดการน้ำเสียและสิ่งแวดล้อมด้วย ใช้ความรู้ที่เพิ่งพบใหม่ ๆ คือ การระบาดของไทฟอยด์เกิดในที่อับ สุขอนามัยไม่ค่อยดี คุณโซเบอร์เป็นกุญแจสำคัญที่จะไปถึงไคลแม็กซ์ของเรื่อง เพราะคุณโซเบอร์ทำงานเกี่ยวกับซัลโมเนลล่ามานานจนเชี่ยวชาญ
การสืบสวนเกือบลงเอยที่เป็นซัลโมเนลล่าที่ติดจากการกินหอยน้ำจืด หนึ่งในเมนูที่แมรี่จัดให้ แต่โซเบอร์เอะใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่กินหอยที่ติดเชื้อ และมีคนที่ไม่กินหอยก็ติดเชื้อ โซเบอร์พบว่าสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงผู้ติดเชื้อเข้าด้วยกันคือ รับประทานอาหารรสเลิศจากแม่ครัว แมรี่ แมลลอน นี่เอง
โซเบอร์เริ่มสงสัยว่าเชื้อน่าจะอยู่ที่แมรี่ แต่หลักฐานยังน้อยมาก และอย่าลืมตอนที่ผมเคยเล่าให้ฟังเรื่องกำเนิดชื่อซัลโมเนลล่า เริ่มมาจากการติดเชื้อในสัตว์ก่อนและจากสัตว์สู่คน งไม่มีบทพิสูจน์การแพร่กระจายจากคนสู่คน โซเบอร์จึงสืบสวนต่อ เขาเริ่มค้นการระบาดของไทฟอยด์ในอดีตของนิวยอร์ก และ...บิงโก หรือสมัยนี้เรียก โป๊ะแตก เขาพบว่าแมรี่เป็นแม่ครัวที่เกี่ยวข้องกับการระบาดในทุกครั้ง เขาจึงเริ่มปักใจเชื่อว่า แมรี่นี่แหละคนแพร่เชื้อ เขาจึงเริ่มแอบสืบ แอบติดตามแมรี่
เรื่องมาถึงไคลแม็กซ์ที่การระบาดครั้งต่อไป เกิดในที่ที่แมรี่ทำงานเป็นแม่ครัวอยู่
โซเบอร์จึงแสดงตัวและบอกว่าเขาสงสัยว่าเชื้อจะอยู่ในตัวแมรี่ จึงขอตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะของเธอ แน่นอนว่าเธอโกรธ..อย่าลืมว่าเรื่องของพาหะและการระบาดจากคนสู่คนยังไม่ได้รับความเชื่อถือในยุคนั้น แมรี่โกรธและไม่ยอมให้ตรวจ
โซเบอร์ใช้การระบาดครั้งนี้ ถือโอกาสแจ้งสาธารณสุขเมืองนิวยอร์ก พร้อมด้วยหลักฐานประกอบความสงสัย ผลปรากฏว่าหน่วยงานทางสาธารณสุขสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวและพาแมรี่ไปกักกันและสืบสวนโรค ท่ามกลางความงงงวยและเสียงบ่นของแมรี่
สามปีที่แมรี่ถูกกักกันที่โรงพยาบาล Riverside บนเกาะ North Brother island หนึ่งในสองเกาะที่อยู่ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะแมนฮัตตัน สองเกาะนี้คือ North and South Brother island ยุคสมัยต้นศตวรรษที่ยี่สิบ นี่คือที่กักกันโรคระบาด โรคไข้ทรพิษ โรควัณโรค ส่วนแมรี่มาอยู่ด้วยข้อสงสัยไม่ใช่ข้อยืนยัน
การอยู่ที่เกาะกักกันไม่ใช่สิ่งสุขสบาย สารพัดโรคที่รายล้อม รวมถึงการถูกบังคับตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะอีกนับครั้งไม่ถ้วน และปรากฏว่าพบเชื้อโรคในอุจจาระของเธอ คือเชื้อซัลโมเนลล่า ไทฟี่ เชื้อก่อโรคไข้ไทฟอยด์ enteric fever ที่สำคัญในคน และมีแหล่งโรคในมนุษย์เท่านั้น และแมรี่ไม่เคยมีอาการหรืออาการแสดงว่าป่วยเป็นโรคไทฟอยด์เลยแม้แต่น้อย แม้แต่เธอเองก็ไม่เชื่อว่าเป็นพาหะ และนั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้พิสูจน์พาหะไข้ไทฟอยด์ว่ามาจากมนุษย์
เมื่อการสืบสวนเสร็จสิ้น (สืบสวนโรคสามปี ช่างอยุติธรรมมาก) แมรี่ได้ร้องขออิสรภาพและกลับบ้านหลายครั้ง สุดท้ายเธอก็ได้รับการปลดปล่อยในปี 1910 (เปลี่ยนตัวสาธารณสุขคนใหม่ด้วยแหละ) สมัยนั้นยังไม่มีกฏระเบียบและความรู้เรื่องการระบาดและการควบคุมที่ดีนัก โดยคณะกรรมการควบคุมประพฤติยื่นเงื่อนไขห้ามทำงานเกี่ยวกับโรงครัวและการประกอบอาหารอีก
แมรี่กลับออกมาต้องเริ่มชีวิตใหม่ ครั้งนี้เธอเลือกอาชีพซักรีด ดูเหมือนชีวิตเธอจะเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่ง...
อาชีพซักรีดเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อยมาก เทียบกับการประกอบอาหาร แถมแมรี่เองก็ถนัดทำครัว ถ้าใครทราบดีในปี 1910 ประเทศอเมริกาเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ มีการเพิ่มกำลังการผลิต งานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรายได้ดีมาก ต่างจากงานดั้งเดิมคือการซักรีด แล้วแมรี่จะทำอย่างไร คำตอบคือ เธอเปลี่ยนชื่อ
Mary Brown คือคนใหม่และ Mary Mallon คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นตัวแพร่เชื้อหายไป !!
Mary Brown เริ่มหันมาประกอบอาชีพแม่ครัวอีกครั้ง และครั้งนี้คือครั้งสุดท้าย เธอไปทำงานเป็นแม่ครัวที่ Sloane Maternity Hospital โรงพยาบาลที่ดูแลสตรีตั้งครรภ์และนรีเวช ไม่นานทั้งแพทย์ พยาบาลและคนไข้ ติดเชื้อซัลโมเนลล่า 25 รายและเสียชีวิตสองราย เหมือนวงเวียนชีวิตกลับมาอีกครั้ง เธอถูกจับกุม กักกัน คุมขัง และสถานที่กักกันคือที่เดิม North Brother island แต่คราวนี้มันยาวนานกว่าที่คิด
ปี 1915 ที่แมรี่ถูกคุมตัวที่เกาะ มีคนมาสืบสวน สืบโรค สัมภาษณ์มากมาย ข่าวคราวของแมรี่โด่งดัง คนทั้งอเมริการู้จักตามหน้าหนังสือพิมพ์ "Typhoid Mary" และคำพูดนี้กลายเป็นคำเรียกึนหรือเหตุการณ์ที่เป็นต้นตอ ต้นเหตุของเหตุการณ์เลวร้ายที่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือสิ่งเลวร้าย
ทั้ง ๆ ที่ในขณะแมรี่ถูกคุมขัง ก็ยังมีการระบาดของไทฟอยด์อีกเช่นกัน !! แต่หามีใครประสบชะตากรรมโหดร้ายเช่นเธอ ไม่มีการพูดถึงการล้างมือ สุขอนามัยการขับถ่าย สุขอนามัยการประกอบอาหาร การรักษาโดยเร็วเพื่อลดโอกาสการเป็นพาหะนำโรค
ปี 1932 สิบสองปีให้หลัง (12 ปีแห่งการกักกันโรค) มีคนมาพบแมรี่เป็นอัมพาตเฉียบพลัน ไร้ญาติขาดมิตร เธอเข้ารักษาที่โรงพยาบาล Riverside บนเกาะ เป็นอีก 6 ปีแห่งความทุกข์ทรมาน รวมเวลาทั้งสิ้น 18 ปีที่ถูกกักกันโดยที่โลกภายนอกก็ยังระบาดอยู่ และพัฒนาจนทราบวิธีการการควบคุมโรคแต่เธอกลับไม่ได้รับการปลดปล่อย สุดท้ายเธอเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนคือปอดอักเสบติดเชื้อ เสียชีวิตบนเกาะที่เธอถูกกักกันนั่นเอง
หลังจากเธอเสียชีวิต โลกได้เรียนรู้เรื่องของคนที่พาหะนำโรค เรียนรู้เรื่องการควบคุมโรค เรียนรู้ถึงการให้ผู้คนตระหนักถึงการแพร่เชื้อและการป้องกันมากกว่าจะลงโทษทางสังคมหรือควบคุมโดยการกักกัน เพราะแมรี่คิดเพียงแต่ว่าเธอจะกลับไปประกอบอาชีพที่เธอรักได้อีกเมื่อไร โดยไม่มีใครให้เหตุผลว่าทำไมเธอจึงไม่ควรทำอาชีพประกอบอาหาร หรือเธอจะประกอบอาหารอย่างไรให้คนกินปลอดภัย เธอจะควบคุมการแพร่กระจายเชื้ออย่างไร
ถึงแม้กักกันเธอ หรือจะกักกันพาหะอีกกี่ร้อยกี่พัน ก็จะต้านทานการระบาดไม่อยู่หากไม่ทราบวิธีควบคุมที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่แท้จริง
เป็นอันจบเรื่องราวทั้งหมดของไทฟอยด์และซัลโมเนลล่า
สวัสดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น