20 มิถุนายน 2561

วัคซีนไข้เลือดออก ติดตามข่าวกันต่อไป

วัคซีนไข้เลือดออก ติดตามข่าวกันต่อไป
ก่อนจะไปต่อขอสรุปก่อน ปีก่อนนี้มีวัคซีนไข้เลือดออกชนิดสี่สายพันธุ์ออกมาจำหน่าย โดยฉีดในคนที่อายุตั้งแต่ 9-45 ปี เป็นวัคซีนที่เป็นไคเมอริก คือ พันธุกรรมตัดต่อกันระหว่างไวรัสไข้เหลืองและไข้เลือดออก ด้วยข้อมูลที่ว่าสามารถลดการติดเชื้อรุนแรงลงได้กว่า 80%
หลังจากได้มีการจำหน่ายและติดตามผล พบว่ามีการติดเชื้อที่ต้องนอนโรงพยาบาล (คำจำกัดความของการนอนโรงพยาบาลกับการติดเชื้อรุนแรงเป็นคนละอย่างกันนะครับ) พบมากขึ้นในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน จำนวนที่พบมากขึ้นนั้นแม้ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับจำนวนที่วัคซีนช่วยคนไว้
การศึกษายืนยันของทางบริษัทเองก็ยืนยันเช่นนั้นว่า ในกลุ่มคนที่ฉีดได้นั้นจะพบการเกิดโรคไข้เลือดออกที่ต้องนอนโรงพยาบาลมากกว่าในกลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลย และไม่ได้เป็นไข้เลือดออกจากวัคซีนเพราะจากการตรวจเฉพาะแบบ เป็นผลแอนติบอดีต่อไข้เลือดออกธรรมชาติ (อย่าลืมว่าวัคซีนมันเป็นลูกผสมไข้เลือดออกกับไข้เหลือง)
แล้วจะทำอย่างไร
เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศออกมาเช่นนั้นและสอดคล้องกับการศึกษาของบริษัทผู้ผลิตเองด้วย คนที่จะเริ่มฉีดก็กังวล คนที่ฉีดไปแล้วก็กังวล คนที่ฉีดไม่ครบยิ่งกังวล ในประเทศเราก็มีคำแนะนำว่าหากเคยเป็นแล้วก็ฉีดได้ แต่หากไม่เคยเป็นก็ให้คุยผลดีผลเสียเป็นรายๆไปและตกลงกัน เพราะแม้จะมีโทษบ้างแต่ประโยชน์มากกว่าเยอะเลย
ปัญหาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อไปแล้ว ฉีดแล้วได้ประโยชน์หรือเรายังไม่ติดเชื้อ ฉีดแล้วต้องระวัง
การศึกษาระบาดวิทยาของไข้เลือดออกในไทยที่ผ่านมาพบว่าในคนที่อายุตั้งแต่ 9 ปี พบเป็นไข้เลือดออกแล้วจากการตรวจเลือดมากกว่า 80% และยิ่งอายุมากโอกาสที่ติดเชื้อแล้วก็ยิ่งมากขึ้น แต่ทว่าการตรวจเลือดที่เขาใช้เป็นมาตรฐานที่บอกว่า เคยติดเชื้อแล้วนั้น เรียกว่า Dengue Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ที่จะบอกได้ว่าเคยมีการติดเชื้อและผลจะไม่หายไป
ที่ต้องตรวจเพราะส่วนมากการติดเชื้อไข้เลือดออกจะไม่มีอาการหรือมีอาการเหมือนไข้หวัด ที่เห็นหนักๆหรือเป็นข่าวแค่ส่วนน้อยเท่านั้น ดังนั้นก็อาจจะมีคนส่วนมากเลยที่ไม่รู้ว่าติดเชื้อแล้วหากไม่ตรวจด้วย PRNT
การแยกคนที่ไม่เคยมีอาการที่ชัดเจนของไข้เลือดออก ว่าเคยติดเชื้อหรือไม่ เป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาให้วัคซีน แต่การตรวจ PRNT ทำได้ยากและใช้ในงานวิจัยเป็นหลัก เรายังต้องรอเครื่องมือที่ดีกว่านี้ ง่ายกว่านี้ ถูกกว่านี้ (PRNT อาจแพงพอๆกับฉีดวัคซีนเลย) เพื่อแยกคนที่เคยติดเชื้อหรือไม่ ในการพิจารณาวัคซีน
การตรวจแอนติบอดีที่ใช้ในการ "วินิจฉัย" ในปัจจุบันไม่สามารถใช้ "คัดกรอง" ว่าเคยติดเชื้อหรือไม่ เนื่องจากระดับแอนติบอดีจะต่ำลงหากเวลาล่วงผ่านไป
องค์การอนามัยโลกได้ประกาศคำแนะนำในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า แนะนำฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุเดิม แต่เฉพาะคนที่มีหลักฐานว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะเคยป่วยมาแล้ว หรือตรวจคัดกรองโดยหาแอนติบอดีที่เฉพาะและไวว่าเคยติดเชื้อมาแล้วหรือไม่เฉกเช่น PRNT
แต่เรายังไม่มี test ที่ง่ายและพอเทียบเท่า PRNT ได้ ยังคงต้องรอต่อไป (รู้สึกว่าจะอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา) หรือจะใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาในประเทศว่าส่วนมากเคยสัมผัสและติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วก็อาจจะพอได้ หากมีการสำรวจอย่างแน่นอนชัดเจน (กำลังทำอยู่)
ในระหว่างนี้หากต้องการฉีดให้เข้ารับคำแนะนำกับแพทย์ผู้ดูแลโดยตรงรายคนรายกรณีไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม