05 พฤษภาคม 2561

การติดตามโรคที่บ้าน มีข้อดีมากมายและมีข้อควรระวังมากมายเช่นกัน

การติดตามโรคที่บ้าน มีข้อดีมากมายและมีข้อควรระวังมากมายเช่นกัน
Home Blood Pressure Monitoring (HBPM) เป็นหนึ่งในการติดตามการรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ดี เพื่อทราบความผันแปรของระดับความดัน ค่าความดันที่แท้จริง มีภาวะความดันโลหิตที่ลดลงมากจนน่าเป็นห่วงหรือไม่ ปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานในการรักษาโรค
Self Monitoring Blood Glucose (SMBG) อีกหนึ่งตัวเลือกที่ใช้ในการติดตามและปรับการใข้ยาเบาหวานสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ปัจจุบันแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลิน หรือมีแนวโน้มจะเกิดน้ำตาลต่ำจากการรักษา เพราะบางครั้งน้ำตาลต่ำที่บ้านโดยที่อาการไม่ชัดเจน ก็อาจเป็นอันตรายได้
แต่ผู้ที่จะใช้วิธีเหล่านี้ก็จะต้องมีความเข้าใจในแต่ละวิธีและข้อจำกัดเช่นกัน ไม่สามารถใข้ตัวเลขที่ปรากฏบนเครื่องมาตัดสินการรักษาทั้งหมดได้ และที่สำคัญต้องมีใจนิ่งด้วย ไม่ผันแปรตามค่าต่างๆที่เปลี่ยนไป
นาย ก (กรุณาอ่าน นาย กอ อย่าอ่านนายกนะครับ) เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ใช้เครื่องวัดความดันที่บ้าน มีอยู่วันหนึ่ง นาย ก วัดความดันโลหิตได้ 110/60 ซึ่งของเดิมๆที่วัดเป็นประจำนั้นคือ 130/80
นาย ก ตกใจกลัวความดันโลหิตจะต่ำไป จึงลดยาเองจากกินจากสองเม็ดเป็นหนึ่งเม็ดเอง และตัดสินใจกินยาหนึ่งเม็ดเพราะกลัว
นางสาว ข ป่วยเป็นโรคเบาหวานใช้ยากินอยู่สองชนิด นางสาว ข กลัวน้ำตาลจะคุมไม่ได้ (Hemoglobin A1c เท่ากับ 6.8) จึงไปซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วมาตรวจเอง ทำบันทึกทุกวัน หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นางสาว ข กินมะม่วงสุกมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลปลายนิ้ว จากเดิมประมาณ 110 สูงขึ้นเป็น 150
นางสาว ข กลัวน้ำตาลสูง จึงปรับยากินจากเดิมสองชนิด ชนิดละหนึ่งเม็ด กินเพิ่มเป็นชนิดละสองเม็ด หนึ่งในสองชนิดนั้นคือยากิน glibenclamide ที่ทำให้น้ำตาลต่ำได้
ท่านเห็นตัวอย่างสองตัวอย่างนี้ไหม เป็นเรื่องจริงเพียงแต่ผมดัดแปลงค่าและชื่อ
ในกรณีแรก การติดตามความดันโลหิตนั้น ควรมีข้อมูลที่ตกลงกับแพทย์ว่าระดับเท่าไรจึงจะต้องระวัง ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อปรับยา หรือมีอาการใดๆที่ควรมาพบแพทย์เช่น หน้ามืดเวลาลุกนั่ง การ "กลัว" ค่าความดันที่ลดลงจากเดิมแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แล้วลดยาลง อาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
เพราะความดันโลหิตมนุษย์เราไม่คงที่อยู่แล้วครับ วัดซ้ายขวาพร้อมๆกันยังไม่เท่ากันเป๊ะๆเลย การติดตามแบบนี้และจดบันทึกมีประโยชน์มากครับ แต่ก็ต้องคุยกับหมอด้วยว่า เมื่อไรที่ต้องระวัง เมื่อไรที่ต้องมาพบ
ในกรณีที่สองนั้นอันตรายกว่าเสียอีก เพราะควบคุมดีอยู่แล้ว (ระดับ A1c ได้ที่ต้องการ) การติดตามระดับน้ำตาลปลายนิ้วคงไม่จำเป็นนัก และหากทำแล้วแปลผลพลาดคือ "หวาดหวั่น" แล้วปรับยาเอง โดยเฉพาะเพิ่มยาเป็นสองเท่าเลย ทั้งๆที่ปัญหาเกิดจากกินหวานเพิ่ม และยาที่เพิ่มก็มียาที่ทำให้น้ำตาลต่ำมากๆจนอันตรายได้คือ Glibenclamide
ปัจจุบันเราใช้ระดับน้ำตาลที่ชื่อ Hemoglobin A1c ประมาณ 7.0-8.0% เพื่อเป็นเป้าการรักษา การเจาะน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อติดตามนั้นลดลงมาก มีใช้บางกรณีดังที่กล่าวข้างต้น เพราะหากใช้แล้วไม่ระวัง ไม่คุยกับหมอที่ดูแลดีๆ ก็อาจมีปัญหาเรื่องระดับน้ำตาลได้
ของทุกสิ่งในโลกล้วนมีด้านดีและด้านมืด ความรู้แจ้งกระจ่างจริงจึงมิใช่รู้แจ้งในด้านดี แต่ต้องทราบถึงด้านมืดด้วย และเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยและสถานการณ์ที่ต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม