09 พฤษภาคม 2561

สิบข้อ สิ่งที่ประชาชนควรรู้จากแนวทางการรักษาวัณโรคประเทศไทย ปี 2561

สิบข้อ สิ่งที่ประชาชนควรรู้จากแนวทางการรักษาวัณโรคประเทศไทย ปี 2561
1. การเก็บเสมหะตรวจวัณโรค ถือว่ามีความสำคัญสูงมาก เป็นวิธีที่ง่ายที่จะพิสูจน์โรค ให้เก็บเสมหะในตอนเช้า เรานอนสะสมเสมหะมาทั้งคืน ไม่เอาน้ำลายนะครับ เก็บแต่ละครั้งประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ส่งตรวจเลย ถ้ายังส่งไม่ได้เก็บใส่ภาชนะปิดและแช่เย็นไว้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเราเก็บเสมหะดีๆ ใช้ตัวอย่างตรวจอย่างน้อยสองตัวอย่างก็พอ
2. เสมหะที่ไปย้อมสีช่วยวินิจฉัยโรคได้ง่าย เร็ว ราคาถูก แต่การย้อมไม่เจอไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นโรค เพราะอาจเก็บไม่ถูก เชื้อไม่มากพอ ปัจจุบันเราจึงมีการตรวจที่เป็นมาตรฐานในกรณีเสมหะไม่พบเชื้อคือ การตรวจกรดนิวคลิอีก สารพันธุกรรมของวัณโรค ที่มีความไวและความจำเพาะสูงขึ้น ในชุดการตรวจเดียวกันสามารถตรวจการดื้อยาเบื้องต้นได้ด้วย การตรวจสารพันธุกรรมนี้มีครบทั่วทุกภูมิภาคของไทยแล้ว
3. สูตรยามาตรฐานในการรักษาวัณโรคที่ดีที่สุด ทรงประสิทธิภาพที่สุด ราคาถูกที่สุดและหาง่ายที่สุด คือ สูตรยาสี่ชนิด isoniazid, rifampicin, ethambutol, pyrazinamide คุณหมอจะพยายามให้สูตรนี้หรือใกล้เคียงมากที่สุด และผู้ป่วยต้องพยายามกินยาตามกำหนดให้เคร่งครัด ระยะเวลาในการรักษาโดยมากคือ หกเดือน การกินยาที่ดีตามมาตรฐาน คือ ต้องมีประจักษ์พยานบุคคลรับทราบและบันทึกด้วย
4. สาเหตุสำคัญที่ต้องเน้นย้ำเรื่องการกินยาเพราะว่า อุบัติการณ์เชื้อดื้อยาวัณโรคเพิ่มขึ้นสูงมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกินยาสูตรมาตรฐานไม่ครบถ้วน ขนาดยาไม่ถึงขนาดรักษา หยุดยาเอง หรือกินยาอย่างอื่นที่ทำให้ประสิทธิภาพยาวัณโรคลดลง ดื่มเหล้า จริงอยู่ว่ามีการติดเชื้อดื้อยาตั้งแต่แรกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากหากเทียบกับการกินยาไม่ได้ตามกำหนด
5. หากเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ที่พบบ่อยคือ ผื่นขึ้น คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตามัวลง ให้มาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการปรับยา หรือในบางรายอาจต้องหยุดยาสูตรมาตรฐานและใช้ยาสูตรสำรองก่อน เมื่ออาการดีขึ้นจึงกลับมาให้ยาสูตรมาตรฐานทีละตัว เพื่อสืบค้นว่ามีปัญหาที่ยาตัวใด และปรับสูตรใหม่ให้ใกล้เคียงยาสูตรมาตรฐานมากที่สุด
6. หากใช้ยาสูตรอื่น ประสิทธิภาพจะด้อยลงและต้องใช้เวลานาน โดยเฉพาะสูตรที่ไม่มียา isoniazid หรือ rifampicin ในกรณีที่เชื้อเกิดดื้อยาทั้ง isoniazid และ rifampicin เราจะเรียกวัณโรคชนิดนั้นว่า วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistance TB : MDR-TB) ซึ่งจะค้องใช้ยาสูตรสองรวมยาฉีดอย่างน้อยๆ 4 ชนิด ใช้เวลาในการรักษาไปจนกว่าจะเพาะเชื้อไม่ขึ้นอย่างน้อย 18 เดือน (รักษาไปจนกว่าจะเพาะเชื้อไม่ขึ้นนะครับ ไม่ใช่ว่านับตั้งแต่ต้น ดังนั้นจะยาวนานมาก)
*** การรักษาและการเลือกสูตรยาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน แพทย์ทุกคนต้องทราบเป็นพื้นฐานนะครับ สมัยก่อนอาจจะเป็นระดับอายุรแพทย์ขึ้นไป แต่เดี๋ยวนี้มันเจอเยอะมากและหากเราจัดการไม่ได้ วัณโรคดื้อยาจะเพิ่มขึ้น***
7. การควบคุมการกระจายโรคเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการปิดหน้ากาก การตรวจคัดกรองคนในบ้านโดยเฉพาะเด็ก โดยทั่วไปหากใช้สูตรยามาตรฐานแล้วเมื่อครบสองสัปดาห์การแพร่กระจายเชื้อจะลดลงมากจนถึงระดับปลอดภัย การแพร่กระจายส่วนมากเกิดกับวัณโรคปอด ดังนั้นสารคัดหลั่ง น้ำลายเสมหะต้องใส่ภาชนะปิดเสมอ และล้างมือประจำ
8. วัณโรคไม่ได้มีแต่วัณโรคปอด แต่ยังมีวัณโรคนอกปอดเช่น ที่เยื่อหุ้มปอด ที่เยื่อหุ้มหัวใจ ที่ต่อมน้ำเหลือง ที่กระดูก ที่เยื่อหุ้มสมอง การรักษาจะคล้ายๆกับวัณโรคปอดคือสูตรยามาตรฐาน 6 เดือน ยกเว้นวัณโรคของกระดูกและข้อ ยกเว้นวัณโรคของสมองและเยื่อหุ้มสมอง ที่ใช้เวลารักษา 9-12 เดือน และวัณโรคเยื่อหุ้มสมองต้องใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษาทุกราย เพื่อลดความพิการ
9. การเพาะเชื้อวัณโรคหรือเชื้อมัยโคแบคทีเรียอื่นๆที่ไม่ใช้วัณโรคยังจำเป็นต้องทำเสมอเพื่อตรวจการดื้อยาและยืนยันเชื้อดื้อยา แม้ว่าการตรวจกรดนิวคลิอีกด้วยวิธี Xpert MTB/RIF หรือวิธี Line Probe Assay จะรวดเร็วกว่าในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและแนวโน้มการดื้อยา เพื่อตัดสินการรักษาวัณโรคดื้อยาได้เร็วขึ้น แต่การเพาะเชื้อก็อย่างน้อยสองถึงสามเดือน การติดตามอาการ การตรวจเสมหะ การตรวจภาพรังสีทรวงอกจึงยังมีความสำคัญเสมอ
10. สรุปว่า ผู้ป่วยและผู้ดูแลต้องให้ความสำคัญในการกินยาตามกำหนด ไม่หยุดยาเอง ไปติดตามการรักษาตามหมายนัด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์เสมอ ส่วนบุคลากรทางสาธารณสุขควรอ่านแนวทางฉบับนี้ ผมทำลิงค์มาให้ด้านล่าง ฟรี มีแนวทางการจัดการทั้งในและนอกโรงพยาบาล การรักษาขนาดยา ความรู้พื้นฐานต่างๆ ครบถ้วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม