25 พฤษภาคม 2561

การศึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่แบบการทดลองทางการแพทย์

การศึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่แบบการทดลองทางการแพทย์ นานๆมีมาสักฉบับ
ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาการให้รางวัล 800 ดอลล่าร์สหรัฐกับพนักงานที่เลิกได้ ผลการเลิกดีกว่าเลิกมาตรฐานสามเท่า มีการให้รางวัลแบบสะสมเดือนต่อเดือนถ้าไม่สูบบุหรี่ แต่ถ้าสูบจะถูกหักเงิน พบว่าสำเร็จมากกว่าวิธีให้รางวัลถึงสองเท่า แต่นี่คือคนที่สนใจเลิกนะครับ
(แสดงว่าแรงจูงใจนี่มีผลมากๆ)
ทางมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียได้ทำงานวิจัยขึ้นมาใหม่คล้ายๆแบบนี้ โดยเลือกในกลุ่มพนักงานบริษัท ก็เป็นบริษัทที่มีการตรวจสุขภาพพนักงาน มีการถามเรื่องบุหรี่ และมีโครงการเลิกบุหรี่ให้พนักงาน โดยส่งอีเมลไปเชิญพนักงาน 54 บริษัท ว่าจะเข้าร่วมโปรแกรมหรือไม่ ถ้าไม่ตอบกลับถือว่าเข้าร่วม เพราะนายจ้างเขามีโปรแกรมให้เลิกอยู่แล้ว 6006 ราย โดยในหกพันกว่ารายนี้ มีรายที่แจ้งความจำนง "อยากและต้องการ" ที่จะเลิกบุหรี่อย่างแข็งขันอยู่ 1191 ราย คือเป็น 19.8% (โหย..มีใจรักอยากเลิกสุดๆ แค่ 20%เอง)
ทุกคนที่อยากเลิกจะได้รับสื่อการสอน การอบรม การทำความเข้าใจการเลิกบุหรี่ผ่านทางสื่อออนไลน์ และมาจัดกลุ่ม เป็นกลุ่มที่ได้รับคำแนะนำมาตรฐานและกลุ่มที่ได้รับการทดลอง กลุ่มที่ได้รับการทดลองแบ่งเป็นสี่กลุ่มย่อยนะครับ
กลุ่มที่ได้การรักษามาตรฐานคือให้ความรู้ เสริมพลังใจ(ไม่ได้ใช้คลินิกเลิกบุหรี่นะครับ) 813 ราย หลังจากนั้นก็มาแบ่งเป็นกลุ่มทดลองย่อยสี่กลุ่ม (เนื่องจากสี่กลุ่มนี้วิธีไม่เหมือนกัน จึงจะมี bias และ allocation ที่ต่างกัน) ดังนี้
1. ให้ยาอดบุหรี่ และสารชดเชยนิโคตินเช่นหมากฝรั่ง แผ่นแปะ ให้ฟรีเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ยาอดบุหรี่ควบคุมโดยแพทย์ มีการสอนการใช้สารชดเชยนิโคติน (สั่งและส่งให้ทางหน้าเว็บของเขา)
2. ให้บุหรี่ไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 6 เดือน ยี่ห้อ NJOY พร้อมนิโคตินเหลว 1.0% หรือ 1.5% และรสชาติตามชอบ ให้ 20 set ต่อสัปดาห์ (สั่งและควบคุมการใช้ทางเว็บไซต์) โดยไม่มียาอดบุหรี่หรือสารชดเชยนิโคตินในข้อแรกเลย
3. ให้เงินรางวัลถ้าอดได้ที่เดือนที่หก (มีการติดตามตลอดนะ) จำนวน 600 ดอลล่าร์สหรัฐ (หมื่นแปด ..ตรงนี้สำหรับบางคนอาจไม่ได้จูงใจมากหากรายได้สูง)
4. ให้เงินโบนัส 100 ดอลล่าร์เดือนแรก 200 ดอลล่าร์เดือนที่สอง 300 ดอลล่าร์เดือนที่หก ถ้าพิสูจน์ว่าแต่ละครั้งที่ให้อดบุหรี่ได้จริง (มีวิธีทดสอบ) ถ้าอดไม่ได้ก็เลิกและถอนเงินกลับ (โหดมาก)
โดยกลุ่มที่สามและสี่ ได้ยาและผลิตภัณฑ์ชดเชยนิโคตินฟรีเช่นกัน
น่าสนใจดี วัดผลว่าเดือนที่หก จะมีคนเลิกบุหรี่ได้กี่คน เลิกได้นั้นต้องประวัติเลิกได้จริงและยืนยันด้วยผลตรวจสารโคตินีนในปัสสาวะ (urine cotinine) และหากเป็นกลุ่มใช้สารชดเชยนิโคตินหรือบุหรี่ไฟฟ้าจะเพิ่มการดู คาร์บอกซีฮีโมโกลบิน คือคาร์บอนมอนอกไซด์ที่จับเม็ดเลือดแดง มาจากบุหรี่เผาไหม้ ในความเห็นส่วนตัวผมว่าไม่มาตรฐานเท่าไหร่นัก เพราะมาตรฐานจะใช้การวัดคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ ถ้ามีก็น่าจะสูบ ถ้าไม่มีคงไม่สูบแน่ๆ
การเก็บข้อมูลแบ่งเป็นสองขยัก เพราะขยักแรกกลุ่มตัวอย่างไม่พอ คนไม่ได้อยากเลิกมากขนาดนั้น โดยคิดวิเคราะห์โดยรวม และดูเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเลิกจริงจังที่แจ้งความจำนง 1191 คนด้วย เรามาดูผลกัน
มาดูข้อมูลโดยรวมก่อน ส่วนมากที่เจ้าร่วมการศึกษาอายุ 44-45 ปี สูบบุหรี่มา 18-20 ปีเฉลี่ยที่ครึ่งซองต่อวัน ผู้ชายผู้หญิงพอๆกัน น่าสนใจคือเป็นคนที่อยากเลิกแต่ไม่มีโอกาสหรือเข้าไม่ถึงวิธีถึงเกือบ 90% ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาแล้วแค่ 10%
การศึกษาไม่ได้แจกแจงรายได้ ซึ่งมีส่วนเพราะค่าเงินรางวัลอาจไม่จูงใจในกลุ่มรายได้สูง
ส่วนคนที่ต้องการเลิกจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงนะครับ การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย รายได้ดีและส่วนมากใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเลิกมาก่อน
ผลโดยรวมอัตราการเลิกที่หกเดือน 1.3% เท่านั้น กลุ่มที่แนะนำเฉยๆ เลิกได้ 0.1% กลุ่มหนึ่ง 0.5% กลุ่มสอง 1.0 % กลุ่มสาม 2% กลุ่มสี่ 2.9% โดยกลุ่มที่เลิกได้อย่างมีนัยสำคัญคือกลุ่มที่ได้เงิน ส่วนกลุ่มอื่นๆไม่มีนัยสำคัญ และถ้าเทียบว่ากลุ่มที่ได้เงินจะเลิกได้มากกว่ากลุ่มไม่ได้เงินไหม คำตอบคือใช่ 4-5 เท่าตัวเลยทีเดียว
ตรงนี้บอกอะไร บอกว่าในกลุ่มที่พอมีโอกาสเข้าร่วม แรงจูงใจไม่แรง แม้ได้โอกาสดีๆแบบต่างๆ อัตราการเลิกก็ไม่ได้สูงมากนัก พอๆกับหักดิบเลิกเองเลย แม้การได้รับเงินรางวัลจะมีนัยสำคัญต่างจากการเลิกมาตรฐานและบุหรี่ไฟฟ้า แต่ตัวเลขก็ไม่ได้มากเท่าไรนัก
แรงจูงใจของตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว ...ลองมาดูข้อมูลของคนที่อยากเลิกดูบ้าง
สำหรับคนที่อยากเลิกเป็นทุนเดิม 1191 ราย ก็ได้รับการแบ่งกลุ่มไม่ต่างจากกลุ่มรวม แต่ผลการศึกษาต่างกันมาก ผมจะวงเล็บตัวเลขโดยรวมมาด้วยเพื่อเปรียบเทียบ
การแนะนำเฉยๆ 0.7%(0.1%) กลุ่มให้ยาฟรี 2.9%(0.5%) กลุ่มให้บุหรี่ไฟฟ้าฟรี 4.8%(1.0%) กลุ่มได้รางวัล 9.5%(2.0%) กลุ่มที่สะสมเงินและเอาคืนหากไม่เลิก 12.7%(2.9%) จะสังเกตว่าแนวโน้มไปในทางเดียวกันกับกลุ่มใหญ่ แต่ตัวเลขมากกว่าหลายเท่าเลย และการจูงใจก็ยังสำคัญมาก
บอกเราว่า ถ้าใครมีแรงจูงใจแล้วเราเสนอทางเลือกเพิ่มให้เขา แนะนำหนทาง ช่วยเขาอัตราการเลิกจะสูงขึ้น
*** นี่ขนาดยังไม่เข้าคลินิกเลิกบุหรี่อย่างเป็นทางการนะ คิดดูว่าถ้าประชาสัมพันธ์ดีๆ ชักจูงคนให้เห็นผลเสียของบุหรี่ ชักจูงให้เลิก เมื่อเขาพร้อมก็ให้การช่วยเหลือทันที และยิ่งเป็นกระบวนการของคลินิกเลิกบุหรี่ที่ดีแล้ว รับรองว่า อัตราการเลิกบุหรี่จะเพิ่มหลายเท่า เราจะช่วยลดอันตรายโรคจากบุหรี่ได้มากมายขนาดไหน ***
นานๆจะได้เห็นการศึกษาแบบ RCTs ในการเลิกบุหรี่สักทีครับ เลยมาเล่าสู่กันฟัง สามารถไปอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่ (ไม่ฟรีนะครับ)
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMsa1715757…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม