11 พฤศจิกายน 2560

ใช้ยาไม่ดี มีผลถึงหู

ใช้ยาไม่ดี มีผลถึงหู .... ครับ เราจะมาพูดถึงผลข้างเคียงของยาต่อระบบประสาทหู
ผลกระทบของยาต่อประสาทหู มีทั้งรบกวนประสาทการได้ยินและประสาทการทรงตัว นั่นคือมีผลตั้งแต่หูชั้นในถึงเส้นประสาทสมองคู่ที่แปด ยาบางชนิดมีผลทั้งสองอย่าง ส่วนมากเกิดชั่วคราวส่วนยาที่ต้องระวังคือยาที่จะเกิดผลถาวร
ข้อสำคัญของเรื่องนี้คือ ส่วนมากจะไม่มีอาการ อาการน้อยจนไม่รู้สึกหากไม่ตรวจ และเมื่อเกิดปัญหาคือความเสียหายเกิดมากแล้ว และที่สำคัญกว่านั้นคือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลายมักจะลืมว่ายาที่ใช้อยู่นั้นมีพิษต่อประสาทหู ก็เลยลืมติดตามลืมตรวจไป
งั้นเรามาลองรู้จักว่ายาอะไรกันบ้าง ที่ใช้กันบ่อยๆและน่ารู้
สองตัวแรกที่มีปัญหาเรื่องนี้ ที่ได้รับการศึกษามากและเป็นต้นแบบของการติดตามพิษของยาในระบบหูนี้คือ ยามะเร็งในกลุ่ม platinum-based แน่นอนไม่ใช่แพลตินัมแถวประตูน้ำแน่นอน คือยา ciaplatin carboplatin และ oxaliplatin และอีกกลุ่มคือยาฆ่าเชื้อกลุ่ม aminoglycosides ซึ่งมีพิษทั้งต่อหูและต่อไต (โปรตีนบางชนิดที่ท่อไตและหูชั้นในเหมือนกัน และนำพาไปสู่การพบยีนที่ควบคุมโปรตีนเหล่านี้) ได้แก่ gentamicin, amikacin, streptomycin
ข้อสำคัญของสองตัวนี้คือจะเป็นการทำงานถาวร ไม่คืนสภาพเดิมหากเกิดปัญหา
ยาอื่นๆที่พบได้อีกคือ ยาขับปัสสาวะ furosemide, ยามาเลเรีย quinine, ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม macrolides เช่น erythromycin, azithromycin ยาฆ่าเชื้อ vancomycin ยาแก้ปวดลดอาการอักเสบกลุ่ม salicylates
แต่รูปแบบการศึกษาและข้อมูลส่วนมากมาจากยา platinum -based และ ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม aminoglycosidesครับ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ใช้ยาจะเกิดปัญหา มีแค่บางรายเท่านั้น ส่วนมากสัมพันธ์กับขนาดของยาที่สูงและระยะเวลาที่ให้ยานาน จนมาถึงปัจจุบันเราเริ่มค้นพบการเปลี่ยนแปลงระดับพันธุกรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดพิษต่อหูของยาเช่น อนาคตเราน่าจะศึกษาได้ลึกซึ้งและเอาไปใช้ได้มากกว่านี้
A1555G mitochondrial mutation ที่สัมพันธ์กับการเกิดพิษของ aminoglycosides
ACYP2 gene ที่สัมพันธ์กับการเกิดพิษของยามะเร็ง cisplatin
แล้วเราจะพบได้อย่างไรล่ะ ในเมื่ออาการก็ไม่มี ... โดยปกติก็ต้องมีการตรวจคัดกรองเป็นพื้นฐานก่อนให้ยาและตรวจติดตามการได้ยินเป็นระยะๆหลังให้ยา เป็นวิธีที่จะตรวจพบตั้งแต่แรก เมื่อพบจะได้หลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนยาไม่ให้ความเสียหายเกิดมากขึ้น
การตรวจก็จะต้องใช้เครื่องมือตรวจการได้ยิน โดยเฉพาะ ตรวจในย่านความถี่สูงเพราะความเสียหายระยะแรกๆจะสูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่สูงก่อน (high frequency audiometry) และจริงๆยังมีการตรวจแบบต่างๆอีกมากมายที่จะตรวจพบ หาอ่านเพิ่มเติมได้จากที่นี่นะครับ นั่นจะออกเชิงลึกเราจึงไม่ได้ยกมาพูดตรงนี้ครับ แนบเอกสารมาให้คุณหมอได้ค้นเพิ่มเติม
Clin Pharmacol Ther. 2017 Apr;101(4):491-500
Prescrire Int. 2014 Dec;23(155):290-4.
การรักษาโดยใช้ยาป้องกันที่จะจับกับอนุมูลอิสระที่เชื่อว่าทำให้เกิดความเสียหายนั้นยังไม่ได้พิสูจน์ชัดเจนว่าจะช่วยได้ครับ ยังต้องรอการศึกษาต่อไป ดังนั้นตอนนี้จึงยังเป็นขั้นตอนของ ตระหนักรู้ เฝ้าระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้หรือเปลี่ยนเมื่อเริ่มอันตราย
หรือการใช้ยาที่มีอันตรายต่อหูหลายตัวพร้อมกันก็อาจจะเพิ่มอันตรายต่อหูมากขึ้นครับ
ผมมีคนไข้สองสามรายที่ได้รับการรักษาด้วยยา streptomycin เป็นเวลานานจนสูญเสียการได้ยิน ก็ไม่ได้หนวกสนิทนะครับ ต้องพูดช้าๆและดังขึ้น คิดว่าผู้ป่วยก็จะลำบากและคนดูแลก็ลำบากเช่นกัน ดังนั่นถ้าป้องกันหรือตรวจจับตั้งแต่ต้นแล้วทำการป้องกันได้ก็น่าจะมีประโยชน์มากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม