09 พฤศจิกายน 2560

เป็นคำถามชั่วนิรันดร์ โรคไตต้องปรับอาหารอย่างไร ตอนที่ 1

เป็นคำถามชั่วนิรันดร์ โรคไตต้องปรับอาหารอย่างไร
โรคไตเสื่อมเรื้อรังเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมี ฮอร์โมน เกลือแร่ต่างๆในร่างกายมากมายมหาศาลและการเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมก่อให้เกิดความเสียหายในระดับต่างๆมากมาย เราจึงมีมาตรการการรักษาเพื่อชลอความเสื่อมของไต มาตรการเพื่อจัดการภาวะไตเสื่อม เพื่อลดภาวะตรงนี้
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญคือการจัดการอาหาร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วารสาร New England Journal of Medicine ได้ลงบทความหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในงานระดับ เลอค่าอมตะ สำหรับปีนี้เลย คือความเข้าในเรื่องอาหารในผู้ป่วยโรคไต ไม่ได้เป็นการมาชี้ว่า กินอะไร ไม่กินอะไร แต่เป็นการบอกว่าควรกินอะไร เพราะอะไร เรียกว่าเมื่อเข้าใจก็จะจำได้
เราจะพลาดได้อย่างไร
โปรตีน จำก่อน ขนาดโปรตีนต่อวันคือ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม สำหรับโรคไตที่ไม่ได้ฟอกเลือด คือร่างกายของคนที่ไตเสื่อมจะมีการคั่งของสารยูเรียที่เป็นสารปลายทางของโปรตีนอยู่แล้ว จากการสลายกล้ามเนื้อ ถ้าเรายัง "โหลด" โปรตีนมากมาย สารยูเรียก็จะยิ่งคั่งมากขึ้น สารยูเรียที่คั่งมีผลหลายอย่างที่ไม่ดี ผนังหลอดเลือดไม่ดี จุลินทรีย์ในลำไส้แปรปรวน
อย่าคั่งเลยดีกว่า ส่วนที่ว่าต่ำเกินไปจะขาดอาหารเราก็ต้องระวังอย่าให้ต่ำเกินครับ ถ้าไม่ได้น้อยกว่า 0.6 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน หลักฐานบอกว่ายังไม่น่ากังวลเรื่องการขาดโปรตีน และอย่ากินเกินด้วย กินโปรตีนเกินนี่ยูเรียจะเกินได้มาก และอย่าลืมว่าข้าว แป้ง พวกนี้ก็มีโปรตีนนะครับ อาจไม่เข้มข้นเหมือนเนื้อสัตว์แต่กินมากๆเกินไปก็ไม่ดี
การลดโปรตีนนี้ยังต้องรอการศึกษาอีกมาก การศึกษาที่มีส่วนมากก็เป็นการศึกษาในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง การศึกษาในคนยังก้ำๆกึ่งๆ แต่เท่าที่มีก็บอกไปในทางเดียวกันคือ ลดลงมากว่าคนปกติเล็กน้อย
ใช้โปรตีนจากพืชครึ่งนึง สัตว์และนมครึ่งนึง สมดุลๆ ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน ทางสายกลาง
ต่อมาเกลือ บทความนี้เขาให้ความเห็นน่าสนใจ ไปแอบตามที่อ้างอิงก็จริงๆแฮะ การลดเค็มนี่สามารถลดน้ำเกิน ลดโรคหัวใจ ลดอัตราการเสียชีวิต (อย่าลืมว่าโรคไตวายจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นหลัก) ส่วนจะชลอความเสื่อมโรคไตได้ไหม อันนี้ยังไม่ชัดเจน ในการศึกษาของโรคไตนั้นหากเกินเกลือเกินวันละ 4 กรัมนั้นมีผลเสียแน่ๆ แต่การศึกษาที่ชี้ว่าจะลดอัตราเสี่ยงจากโรคหัวใจ ความดัน และหลอดเลือด อยู่ที่วันละไม่เกิน 2.3 กรัมต่อวัน (เพราะการศึกษาส่วนมากจะไม่คิดรวมคนไข้ไตเสื่อมมากๆนั่นเอง)
และเช่นเดียวกับโปรตีน ไม่ใช่ยิ่งต่ำยิ่งดี มีการศึกษาว่าหากโซเดียมต่ำเกินหรือสูงเกิน แย่ลงมากกว่าพอดีๆ เขาเก็บปัสสาวะตรวจในคนไข้ 3939 ราย พบว่าถ้ากินเกิน 4.5 กรัมหรือน้อยกว่า 2.7 กรัม เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและทำให้โรคแย่ลง ตัวเลขแนะนำก็ประมาณนี้ครับ 2.3 กรัมเพื่อลดอัตรายของโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่หมายปลายทางของไตเสื่อมเรื้อรัง
ถ้าสมดุลเกลือดี ก็ดื่มน้ำได้ตามต้องการครับ แต่ถ้าสมดุลเกลือไม่ดีอาจบวมได้ หรืออาจจะกินน้ำเกินจนระดับความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดต่ำได้
เกลืออีกตัว เกลือแร่โปตัสเซียม โปตัสเซียมนี่ดีนะครับ การกินอาหารที่โปตัสเซียมสมบูรณ์ เช่นผลไม้ ผัก ไม่ใช้คำว่าโปตัสเซียมมากเพราะตัวผลไม้โปตัสเซียมมันก็ไม่มากครับ แต่ที่มากเพราะเรากินมาก อาหารพวกนี้ไฟเบอร์สูง ความเป็นกรดต่ำ เกลือโปตัสเซียมพอดี แม้ในกลุ่มคนที่เป็นโรคไตหรือความดันโลหิตสูง กินแล้วผลลัพธ์ต่างๆออกมาดีเกือบหมด ยกเว้นหากกินมากเกินหรือพื้นฐานระดับโปตัสเซียมในตัวมากอยู่แล้ว กลุ่มนี้ก็จะมีค่าโปตัสเซียมในเลือดสูงมากเกิดอันตรายได้
...ทางสายกลาง ทางพอดี ยังใช้ได้ดีนะ..
ปรกติก็กินโปตัสเซียม 4.7 กรัมต่อวัน ยกเว้นกลุ่มไตวายมากๆหรือพวกที่ระดับโปตัสเซียมสูงอยู่แล้วก็ต้องระมัดระวังไม่ให้กินมากเกิน
ยังไม่จบนะ มีต่ออีก ใครอยากอ่านต่อ ลุกไปปิดไฟที่ไม่ใช้ ดึงปลั๊กออก แล้วมาบอกหน่อย ช่วยชาติได้ร้อยปลั๊กก่อน จึงจะลงต่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม