31 กรกฎาคม 2560

วัดไข้ ทำเองก็ได้ง่ายจัง

วัดไข้ ทำเองก็ได้ง่ายจัง
อุณหภูมิกาย ถือเป็นหนึ่งในสี่สัญญาณชีพที่สำคัญของมนุษย์ การที่มีอุณหภูมิกายเปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อการทำงานของร่างกายมากมาย และในทำนองเดียวกันร่างกายจึงพยายามรักษาอุณหภูมิกายให้คงที่ที่สุด ตามธรรมชาติของสัตว์เลือดอุ่น
เวลาที่คุณหมอเฝ้าสังเกตอาการไข้ เราไม่ใช้การเอาหลังมือแปะหน้าผากนะครับ เพราะว่าการวัดโดยวิธีนี้ไม่เที่ยงตรง แต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เราก็จะทำเสมอด้วยเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกยืนยันว่าอุณหภูมิสูงจริง อย่างที่สองคือให้ "คนไข้" ได้สัมผัสถึงความห่วงใยของเรา
การวัดอุณหภูมิกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และถ้าสามารถทำที่บ้านก็ใช้เป็นการติดตามที่ดี บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการแค่ครั่นเนื้อตัว เรารู้สึกเหมือนมีไข้แต่อุณหภูมิไม่สูง ไข้ลดหรือไม่ลด ลองจับตัวเราเองเรายังบอกยากเลย ดังนั้น ไปซื้อเทอร์โมมิเตอร์มาวัดอันละไม่กี่บาท
ชนิดที่แม่นๆอ่านง่าย จะเป็นแบบใช้แสงอินฟราเรดวัดจากรูหู จริงๆคือเล็งเป้าจากเยื่อแก้วหู ถ้าวัดที่ผิวจะไม่แม่นเท่าในหู รองลงมาคือชนิดปรอทในหลอดแก้ว อดีตเราก็เรียกว่าปรอทวัดไข้นี่แหละครับ อย่างสุดท้ายแม่นยำพอๆกันแต่ต้องใช้ให้เป็นคือแบบดิจิตอล อันนี้ถ้าสูงก็จะจริงแต่ถ้าวัดออกมาต่ำต้องระวังความผิดพลาดอันเนื่องมาจากข้อจำกัดในการวัดนะครับ
ส่วนชนิดทาบผิวหนัง..เลิกใช้นะครับ มันบอกอุณหภูมิผิวหนังไม่ใช่อุณหภูมิกาย
เราจะมาพูดถึงแบบราคาถูกใช้ง่ายนะครับ คือแบบปรอททั้งปรอทจริงและดิจิตอล ถ้าเป็นปรอทจริงเราต้องสะบัดให้เนื้อปรอทตกไปรวมกันอยู่ที่กระเปาะด้านล่าง สะบัดแรงๆระวังแตกนะครับ ส่วนแบบดิจิตอลให้กดปุ่มเพื่อกลับสู่ค่าปกติก่อน
เราจะเลือกวัดได้สองตำแหน่งนะครับ คือที่รักแร้และอมใต้ลิ้น ส่วนที่ก้นจะแนะนำให้เทอร์โมมิเตอร์ที่ออกแบบมาพิเศษและแนะนำใช้กับเด็กเท่านั้นครับ
การวัดที่รูหูและอมใต้ลิ้นจะมีความใกล้เคียงอุณหภูมิกายมากที่สุด ส่วนการวัดจากทางรักแร้มักจะต่ำกว่าอุณหภูมิกายประมาณ 0.3-0.5 องศาเซลเซียสนะครับ
เวลาที่ใช้ในการวัดก็สามถึงห้านาที ให้ปรอทได้ขยายตัวเต็มที่หรือถ้าใช้แบบดิจิตอลจะมีเสียง ติ๊ดๆๆมบอกว่าครบเวลาแล้ว ความสำคัญของการวัดคือ probe หรือหัววัดต้องแนบชิดกับผิวหนังรักแร้หรือใต้ลิ้นตลอดครับ จึงน่าเชื่อถือ
เราก็จะได้ค่าอุณหภูมิกายมาแล้ว บันทึกไว้เลยครับ ดูแนวโน้มจะบอกลักษณะกลุ่มโรคได้พอสมควรครับ
คราวนี้เราก็จะได้ข้อมูลอันจับต้องได้ สามารถแปลความหมายได้มากมาย ถ้าไปพบแพทย์เอาใบบันทึกข้อมูลนี้ไปเลย จดวันเวลา บริเวณที่วัด และค่าที่ได้ เอาไปให้คุณหมอได้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม