12 กรกฎาคม 2560

การติดตามข่าวงานประชุมวิชาการ

ด้วยความปรารถนาดี .. ฮักล๊ายหลาย

ช่วงนี้ผมจะอัพเดตความรู้วิชาการบ่อยมาก หรือในช่วงที่มีการประชุมต่างๆนั้นก็จะพยายามส่งข่าวหรือสรุปหัวข้อให้ฟัง ทำลิงค์ให้ไปค้นเพิ่ม พยายามย่อยให้ไม่เสียใจความมากที่สุด
ในรอบปีจะมีงานประชุมวิชาการทั้งในและต่างประเทศมากมาย เราคงไม่สามารถติดตามได้หมดทุกอัน หมดทุกอย่าง เราคงเลือกติดตามเฉพาะที่เราสนใจนั่นเอง เหมือนกันผมก็ทำแบบนั้น ไม่ได้อ่านละเอียดหมดทุกอัน แต่จะคัดกรองเกือบๆทุกอันจากตัวช่วยที่มีอยู่
ตัวช่วยเช่น เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมต่างๆ เว็บไซต์และแฟนเพจและทวิตเตอร์ของ สมาคมแพทย์ต่างๆที่จะสรุปข่าวสั้นๆเอาไว้ให้ ถ้าเราสนใจก็คลิกอ่านต่อ ที่ทันสมัยที่ผมติดตามเช่น medscape, NEJM journal watch, medpage เว็บไซต์เหล่านี้จะเกาะติดการประชุมและงานวิจัยแทนเราได้ระดับหนึ่งครับ คล้ายๆกับสารบัญประจำวัน ให้เราได้ติดตาม

การสมัครสมาชิกสมาคมต่างๆก็จะได้จดหมายข่าวเข้ามาในอินบ๊อกซ์ของเมล์เราทุกวัน ให้เลือกติดตามได้ พยายามใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์ครับ ทำให้เราก้าวทันข่าวสารเสมอ
ทำไมต้องเร็วขนาดนั้นด้วย...มันจำเป็นไหม สำหรับอาจารย์โรงเรียนแพทย์นั้นจำเป็นมาก สำหรับผู้เชี่ยวชาญ คุณหมอที่เรียนอยู่ หรือคุณหมอที่จบแล้ว เภสัชกร พยาบาล ทันตแพทย์ นักวิชาการ ก็น่าจะติดตามอย่างน้อยก็สาขาที่เราสนใจ เพราะในช่วงที่ "hot" นั้น

1. มักจะได้ผลงานวิจัย หรือวารสารวิชาการตัวเต็มแบบฟรีๆ ทันทีที่นำเสนอจบสิ้น โดยเฉพาะวารสารที่มีการอ้างอิงสูง (high impact factor) แต่ถ้ารออีกสักเดือนที่จะออกในรูปแบบทางการทั้งออนไลน์และแบบเล่ม อันนั้นเสียเงิน

2. ในเว็บไซต์ หรือแฟนเพจ สมาคมหรือวารสาร หรือ medscape ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็น บทสัมภาษณ์ผู้วิจัยสั้นๆ ทั้งแบบตัวอักษรหรือแบบคลิปวิดีโอ ที่เราสามารถอ่านเพิ่มได้ บทความและความรู้หาไม่ยาก แต่ความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่ถกเถียงกัน หายากนะครับ ...และถ้ารออีกหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เขาก็จะไปคุยกันเรื่องอื่นแล้ว เพราะมันมีงานวิจัยหรืองานประชุมใหม่ๆออกมาบ่อยมาก

3. ในช่วงที่มีการประชุมโดยเฉพาะการประชุมใหญ่ๆในต่างประเทศ มักจะมี live session ให้ฟังฟรีๆที่บ้าน เพียงแค่ลงทะเบียนเท่านั้น ไม่ต้องเจ๊ตแล็ก แต่อาจจะต้องอดนอนนะครับเพราะเวลาที่อเมริกาหรือยุโรปต่างจากบ้านเรา และถ้าพ้นช่วงประชุมก็ดูย้อนหลังไม่ได้ บันทึกไม่ได้ด้วย ดูสดๆสนุกสุดครับ

4. เหล่าปรมาจารย์ในเมืองไทยที่เข้าร่วมประชุมหรือติดตามที่เมืองไทย ก็จะพูดคุยถกเถียงในระยะนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะใน journal club, การประชุมย่อยในภาควิชา หรือในโลกออนไลน์ เหล่าแอดมินเทพต่างๆก็จะพูดคุย ย่อย สรุปในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็น thaiheart ,ต้องตรวจต่อม, CUEZ endocrine, กระตุกต่อม, และ เพจสองแสน 1412 cardiology
เช่นกัน ถ้าช้าไป อาจารย์ทั้งหลายก็จะขยับไปคุยเรื่องที่ใหม่กว่าครับ เราก็จะตามไม่ทัน เป็นดินพอกหางกวางน้อยไปเรื่อยๆ

ถึงแม้เราไม่ได้อยู่ในตัวเมือง ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนแพทย์ ไม่ได้ไปต่างประเทศ เทคโนโลยีปัจจุบันได้ย่อโลกและความรู้ให้เราได้ติดตามเสมอ และถึงแม้เราจะช้าลงสักหน่อย ก็ไม่ได้เสียหาย สามารถติดตามย้อนหลังได้..แม้จะไม่สดใหม่เท่า แต่ก็จะดีกว่าละเลย ไม่ติดตามครับ
ด้วยความปราถนาดี จากลุงหมอผู้ชรา สายตายาว หนวดเคราหงอก มีดีอย่างเดียวที่หน้านุ๊มหนุ่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม