10 กรกฎาคม 2560

บุหรี่ไฟฟ้า นักสูบเยาวชน

ข้อมูลจากการรายงานสถานการณ์สูบบุหรี่ในประเทศอังกฤษเมื่อต้นปีก่อน ผลออกมาว่าการสูบบุหรี่ยังไม่เพิ่ม สัดส่วนของบุหรี่ที่ไม่ใช่บุหรี่มวนเพิ่มขึ้น และยังไม่ทราบผลว่าเป็นมูลเหตุที่ทำให้ติดบุหรี่มวนมากขึ้นหรือไม่หรือทำให้เยาวชนติดมากขึ้น
แต่สถานการณ์การวิจัยในแต่ละกลุ่มประชากร แต่ละกลุ่มประเทศ เกณฑ์การศึกษาที่ไม่เหมือนกัน จะเอาผลมาใช้นอกเหนือจากคำถามวิจัยและกลุ่มประชากรคงไม่ได้
จะหยิบงานวิจัยจากอังกฤษที่ไม่ได้เป็นงานวิจัยแบบควบคุม แต่เป็นงานวิจัยแบบตามข้อมูลที่มีตัวแปรปรวนมากมายเอามาใช้ในประเทศอื่นคงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือไทยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นการควบคุมบุหรี่ของอังกฤษที่เข้มงวดกว่า ก็อาจส่งผลให้งานวิจัยออกมาว่าไม่ส่งผลต่อเยาวชนเพราะเยาวชนเข้าถึงยาก แต่ในประเทศที่ควบคุมไม่เคร่งครัดเท่า ผลการวิจัยอาจเปลี่ยนไป..จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ดีนัก เรียกว่า จับแพะมาชนแกะ
งานวิจัยสองอันที่ผมยกขึ้นมา อันแรกเป็นงานวิจัยที่กล่าวถึงมากในประเทศไทย งานวิจัยจาก JAMA pediatrics เป็นการศึกษาแบบรวบรวมงานวิจัยมาสรุปรวบยอด ลงตีพิมพ์เมื่อ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่ที่มีระเบียบการวิจัยดี มีเกณฑ์การคัดเลือกที่เคร่งครัดมาก ความเคร่งครัดจะส่งผลให้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำสูง แต่ว่าอาจนำไปประยุกต์ใช้ทั่วไปได้น้อย
วัตถุประสงค์เพื่อดูผลว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีผลต่อการเริ่มสูบบุหรี่มวนหรือไม่ และ ในผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ขณะปัจจุบันเกี่ยวกันกับการเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาก่อนหรือเปล่า
ผลปรากฏว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์ต่อการเริ่มสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญในเด็กและวัยรุ่น และในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ ณ ปัจจุบันทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ามีความสัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาก่อนอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ผมใช้คำว่ามีความสัมพันธ์เพราะไม่สามารถระบุความเป็นเหตุเป็นผลได้ชัดเจนขยาดนั้น และงานวิจัยส่วนมากมาจากการเก็บข้อมูล ไม่ใช่การทดลอง และยังไม่มีข้อมูลที่ออกมาว่าการเอาบุหรี่ไฟฟ้าออกแล้วตัวเลขทั้งสองกลุ่มจะลดลง
ความแปรปรวนงานวิจัยมีพอสมควร ... และวิเคราะห์ย่อยออกมาถ้ายิ่งอายุน้อย ข้อมูลก็จะยิ่งไปทางเดียวกัน
งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนของอเมริกา ส่งผลต่อการเริ่มสูบบุหรี่และการสูบต่อเนื่อง นักวิจัยเขาสรุปว่าเพราะนิโคตินทำให้ติดและจากพฤติกรรมการสูบ การพ่นควัน ส่งผลทำให้ติดได้
เรามาดูงานวิจัยชิ้นที่สอง ลงตีพิมพ์ใน MMWR (morbidity mortality weekly report) ของ CDC สหรัฐอเมริกา ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ศึกษาการเก็บข้อมูลในเยาวชน grade 6-12 คือเด็กมัธยมนั่นเอง เป็นการเก็บแบบ survey คือสอบถามข้อมูลเป็นหลัก... นั่นคืออาจมีความโน้มเอียงและความแปรปรวนจากการตอบคำถามได้ ไม่ได้ทำเป็นรูปแบบการวิเคราะห์อย่างในวารสารแรก และมีการสำรวจหลายครั้งที่ข้อมูลไม่ตรงกัน
การสำรวจทำในปี 2011 จนถึง 2016 ในเยาวชนที่เข้าอยู่ในระบบโรงเรียนเท่านั้นนะครับ โดยสำรวจหมดเลยทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์นิโคตินที่ไม่มีควัน โดยจุดประสงค์เพื่อดูแนวโน้มการสูบบุหรี่เพิ่ม แนวโน้มการสูบหน้าใหม่ และพฤติกรรมการใช้ยาสูบและนิโคติน
ผลออกมาแบบนี้นะครับ โดยรวมจนถึงปี 2015 ปริมาณการสูบโดยรวมเพิ่มขึ้น จนกระทั่งในปี 2016 แนวโน้มเริ่มลดลง จากมาตรการการควบคุมบุหรี่และจัดบริเวณปลอดควัน และความจริงที่เกิดคือบุหรี่แบบเผาไหม้ลดลง แต่บุหรี่หรือการนำส่งนิโคตินแบบไร้ควันกลับเพิ่มมากขึ้น และสัดส่วนของการสูบส่วนใหญ่ยังเป็นบุหรี่มวน ส่วนลำดับสองคือบุหรี่ไฟฟ้า
กลุ่ม high school ใช้ผลิตภัณฑ์ 22% และ ประมาณ10% ที่ใช้มากกว่าสองอุปกรณ์ และนักสูบหน้าใหม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่มวน
กลุ่ม middle ..ประมาณมัธยมต้น ใช้ผลิตภัณฑ์ 7.2% ครึ่งหนึ่งใช้มากกว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์ และนักสูบหน้าใหม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่มวน
การที่นักสูบหน้าใหม่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อมูลที่ว่าบุหรี่มวนมีอันตรายมากกว่าบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นค่านิยมการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ FDA อเมริกาออกมาควบคุมผลิตภัณฑ์
อันนี้เป็นตัวอย่างเลยนะครับ ว่าทำไมรัฐบาลอังกฤษและประเทศที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้ออกนโยบายมาแบบนึง ส่วนอเมริกาและอีกหลายประเทศก็ยังไม่ให้จำหน่ายหรือควบคุมเคร่งครัด ก็มีนโยบายออกมาอีกแบบหนึ่ง เพราะตั้งต้นที่ฐานข้อมูลที่ต่างกันนั่นเอง แต่ละประเทศก็ใช้ข้อมูลของตัว ให้เหมาะสมกับสภาวะประชากร กฎหมายและภาวะสุขภาพของแต่ละประเทศ
ผมสรุปว่า ณ ตอนนี้ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์นิโคติน ยังมีข้อมูลทั้งทางบวกและทางลบครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยมาเล่าเรื่องข้อมูลของอังกฤษ วันนี้เรามาดูของอเมริกาครับ
สุดท้าย..ไม่สูบ..ดีที่สุดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม