ญาติเชิญรอด้านนอกก่อนนะคะ...ตามมาด้วยเสียงปิดประตู ปิดม่าน ข้างในเขาทำอะไรกัน
การช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องฉุกเฉิน ที่หอผู้ป่วย หรือที่ไอซียู ก็ตามแต่ มักจะเป็นการรักษาที่เฉียบไว มุ่งเน้นชีวิต แข่งกับเวลา ความปราณีตต่างๆอาจจะลดลงจนดูเหมือนทำลวกๆ แต่จริงๆเราฝึกกันมาอย่างดีครับ
ภาพที่ปรากฏจึงไม่ใช่ภาพที่น่าดูนักสำหรับญาติ เพื่อน หรือคนทั่วไป เพราะบางครั้งเราต้องเปลีอยกายผู้ป่วยหรือเปิดเผยร่างกายในส่วนอับอาย ภาพการใส่ท่อใส่สายต่างๆอาจจะดูรุนแรงครับ และบางครั้งผู้ป่วยก็มีอาการสติสัมปชัญญะสับสน ดิ้นไปมา อาจต้องมีการดึงรั้ง ผูกมัด เพื่อให้การช่วยชีวิตทำได้สะดวกขึ้น ทำให้ต้องปิดม่านหรือปิดประตูครับ
การดูแลภาวะวิกฤติในโรงพยาบาลนั้นเราทำทุกอย่างพร้อมๆกันครับ ไม่ได้เรียงลำดับ..หัวใจ..ทางเดินอากาศ..การหายใจ เหมือนอย่างการกู้ชีวิตนอกโรงพยาบาล เราจะใช้ทีมทั้งหมดมาพร้อมกัน สองคนเปิดเส้นน้ำเกลือแขนคนละด้าน อีกคนขึ้นกดหน้าอกปั๊มหัวใจ อีกคนจะคอยสแตนด์บายสลับกันป๊มหัวใจ หมอจะประเมินทุกอย่างในขณะที่ตัวเองกับผู้ช่วยอีกหนึ่งคนกำลังใส่ท่อหายใจผู้ป่วยอยู่ หรือกำลังช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าอยู่ และอีกสองคนจะอยู่ที่รถฉีดยาคอยจัดยาเตรียมยา บันทึกการรักษา
การสื่อสารทั้งหมดจะสั้น กระชับ ชัดเจน มีการทวนคำสั่ง รับคำตอบเพื่อความแม่นยำ บันทึกยาและขั้นตอนทุกอย่างเพื่อให้เป็น single command ไม่ซับซ้อน ไม่สับสน จะได้ยินประมาณนี้ ..ฉีด adrenaline 1 cc ครับ และปั๊มหัวใจต่อ .. adrenaline 1 cc ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเรียบร้อยค่ะ พร้อมกับ ได้ยินเสียงตอบกลับในเวลาเดียวกัน ปั๊มหัวใจต่อครับ..
กระบวนการต่างๆแข่งกับเวลาครับ และการช่วยชีวิตคนไม่เหมือนตอนซ้อมกับหุ่นครับ คนมีชีวิต มีการสนองตอบ มีการต่อสู้ตามสัญชาตญาณ เวลาใส่ท่อก็อาจจะมีการดิ้นหนี เอามือมาปัด สำลักต้าน คุณหมอจะจัดการโดยเร็วโดยทั่วไปเราจะไม่ให้ยาสลบครับเพราะจะประเมินยาก ว่าที่นิ่งๆไปเป็นเพราะยาหรือแย่ลง จึงอาจมีการบาดเจ็บได้เช่น ฟันหัก บาดแผลฉีกขาดเล็กน้อยที่ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เวลาช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า หุ่นที่ซ้อมจะนิ่งๆครับ ในคนอาจจะมีกระตุกบ้างเพราะเราใช้ไฟในขนาด 200 จูล เพื่อทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจที่วุ่นวายสงบลง คลื่นหัวใจที่เป็นปกติจะได้ทำงานได้
เวลาปั๊มหัวใจ มองจากด้านหลังจะทรมานนะครับ ญาติบางคนเห็นถึงกับร้องไห้ ว่าอย่าทรมานคนไข้เลย เพราะต้องกดแรงให้กระดูกอกยุบตัวไปบีบหัวใจให้บีบเลือดออกไป ในอัตรา 100 ครั้งต่อนาที ไม่ง่ายนะครับ และต้องกดต่อเนื่องห้ามหยุดโดยไม่จำเป็น ..แต่ก็..มีโอกาสจะเกิดซี่โครงหักได้ ปอดช้ำได้บ้างครับ ไม่อันตรายต่อการกู้ชีพแต่อย่างใด
การเปิดเส้นเลือดเพื่อให้สารน้ำ ไม่ง่ายนะครับในภาวะวิกฤติ หลอดเลือดมักจะแบนลงเพราะเลือดมาเลี้ยงส่วนปลายน้อยลง ผู้ป่วยไม่อยู่นิ่งให้ใส่สายได้ง่ายๆ เราจะต้องใช้เข็มแทงขนาดใหญ่พอควร เบอร์ 16 18 20 นิ่งเบอร์เล็กขนาดยิ่งโตครับ จึงอาจเกิดหลอดเลือดแตก ต้องเปิดหลายครั้ง และบางครั้งอาจเปิดไม่ได้ต้องเปิดหลอดเลือดดำส่วนกลาง คือ หลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ ต้องใช้อุปกรณ์การใส่ มีขดลวดนำทาง ตัวขยายผิวหนัง มักจะใส่ที่ลำคอหรือไหปลาร้าครับ
นอกเหนือจากทำหน้าที่เปิดเส้นแล้ว ยังสามารถใส่สายเข้าไปวัดแรงดันเลือดดำ แรงดันหัวใจ แรงดันหลอดเลือดแดงที่ปอด วัดการไหลของเลือดได้อีกด้วยนะครับ แพทย์บางท่านก็อาจใส่สายเข้าไปที่หลอดเลือดแดงที่แขนบริเวณข้อมือ เพื่อต่อเข้าเครื่องวัดค่าการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดแบบเรียลไทม์ เพื่อการปรับการรักษาได้ทันทีครับ
ตามมาด้วยการใส่สายปัสสาวะวัดปริมาณปัสสาวะ ที่เป็นตัวบ่งชี้การทำงานของไตคร่าวๆ ใส่เคื่องช่วยหายใจต่อเข้ากับท่อ เครื่องวัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ สายยางให้อาหาร สายยางให้อาหารอาจไม่ได้ใส่เพื่อให้อาหารในตอนแรกๆครับ ส่วนมากใส่เพื่อให้ยา แนวโน้มในปัจจุบันเราจะให้อาหารทางสายยางให้เร็วที่สุดเมื่ออาการคงตัว จะช่วยลดการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตได้ครับ แต่จะให้พลังงานไม่มาก เป็นอาหารเหลว ลดสัดส่วนพลังงานลงมา 40%
เมื่อผู้ป่วยสงบพอ หรือปลอดภัย คุณหมออาจจะให้ยานอนหลับถ้าไม่มีข้อห้าม เพื่อลดการทำงานของร่างกาย ผู้ป่วยฉุกเฉินบางรายต้องทำอุณหภูมิให้ลดลงเหมือนแช่แข็งครับ จัดการเก็บสายต่างๆ จัดท่า เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ดี แล้วจึงให้ญาติเข้าไปเยี่ยมครับ และคอยสอบถามหมอถึงการรักษาและแผนการต่อไปครับ
เราเคยเห็นแต่ตอนจบใช่ไหมครับ พอเห็นภาพนะครับ ว่าทีมทำอะไร และ ข้อจำกัดของการทำก็อาจส่งผลเล็กน้อยต่อผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องทำเพื่อ..แลกกับ..ชีวิต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น