การวัดสมรรถนะการทำงานของร่างกายเบื้องต้นด้วยการเดิน 6 นาที (6 minutes walk test)
การทดสอบสมรรถภาพกายทีได้หลากหลายวิธี บางวิธีต้องใช้เครื่องมือมากมาย บางวิธีก็ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ วันนี้เรามารู้จักวิธีง่ายๆที่ได้ผลดีครับ มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการวัดค่าต่างๆมากมาย แม้จะไม่ได้แปลความได้ตรงๆและแม่นยำเหมือนการทดสอบนั้นๆแต่ก็ประหยัดเวลา และไม่ต้องใช้อุปกรณ์มากมายใดๆครับ ที่สำคัญคือทำได้ทุกที่ตั้งแต่ รพ.สต. จนถึง รร.แพทย์เลย
ใช้ในการทดสอบร่างกายโดยรวมนะครับ ที่นิยมกันคือ ทดสอบในผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เพื่อใช้ทดสอบหรือติดตามผลการรักษาได้ มีข้อห้ามชัดๆคือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันที่เป็นมาใหม่ๆ ผู้ป่วยที่ยังคุมควมดันได้ไม่ดี โดยส่วนตัวผมใช้มากในรายผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในการติดตามผลหลังการใช้ยาและสอนการออกกำลังกาย
ให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าสบายๆ รองเท้าสบายๆ จัดหาสถานที่ที่โล่งและสะดวกพอคือสามารถเดินต่อเนื่องกันได้ 30-50 เมตร มีจุดสังเกตในการกลับตัว คิดเหมือนกีฬาวิ่งเปี้ยวนั่นเองครับ แต่ว่าไม่ได้มีใครมาวิ่งไล่ มีนาฬิกา สายวัดหรือเทปวัดระยะทาง แสงสว่างเพียงพอ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีหากแน่นหน้าอกหรือหอบ อุปกรณ์มีแค่นี้ครับ ไม่สามารถใช้ลู่เดินที่ใช้ทำ exercise stress test ได้นะครับ
ควรทำการทดสอบในช่วงเวลาเดียวกันครับ ไม่ใช่ครั้งนี้เช้าครั้งหน้าเย็น ไม่งั้นจะมีความแปรปรวนได้นะครับ เมื่อพร้อมก็ทำการทดสอบได้เลยไม่ต้องวอร์ม โดยให้ผู้ทดสอบเดินด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เดินไปและกลับในเวลา 6 นาที ถ้ารู้สึกเหนื่อยก็ให้ลดฝีเท้าลงมา หายเหนื่อยก็เพิ่มฝีเท้าขึ้นได้ พยายามให้ครบ 6 นาที แต่ถ้าเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอก ปวดขารุนแรง หรือพูดรวมๆว่า ถ้าเดินไม่ไหวก็ให้บอกแล้วหยุดครับ เดินก็ไม่ต้องคุยกับใคร ใช้สมาธิและกำลังเต็มที่กับการเดิน คนที่คุมการทดสอบควรพูดให้กำลังใจเป็นระยะๆเหมือนเชียร์แขกนะครับ .. เยี่ยมมาก..เดินต่อไปเลยค่ะ..ทำเวลาได้ดีค่ะ..ว่ากันไปนะครับ
เมื่อเสร็จแล้วก็มานั่งพัก ถ้าต้องการวัดค่าความดัน ชีพจร อัตราการหายใจหรือความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดก็ทำได้ครับ หลังจากนั้นก็คำนวณระยะทางครับ แนะนำให้นับรอบคูณระยะทางต่อรอบครับ เอาระยะทางไปแปลผล หรือเปรียบเทียบกับครั้งก่อนครั้งหน้าได้ เป็นการพัฒนาส่วนตัวของผู้ทดสอบ ค่าที่ดีขึ้นหรือแย่ลงสามารถบ่งบอกสภาพโรคได้ดีครับเช่นในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถ้าระยะทางดีขึ้น 70 เมตรนี่มีความสำคัญมากบ่งชี้ถึงสภาพโรคที่ดีขึ้นได้ครับ
แต่ถ้าเดินเพียงครั้งเดียว เราจะบอกได้คร่าวๆครับเพราะมีความแปรปรวนในเรื่องของ อายุ โรค เพศ สถานที่ ภาวะโรคขณะนั้น มีการศึกษาในคนปกติ..ย้ำว่าคนปกตินะครับ ระยะทางที่เดินได้ 580 เมตรสำหรับคุณผู้ชายและ 500 เมตรสำหรับคุณผู้หญิง ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เดินได้น้อยกว่า 300 เมตรจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต สำหรับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถ้าเดินได้น้อยกว่า 334 เมตรก็จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตครับ แต่จริงๆผมอยากให้ใช้เป็นการทดสอบเพื่อดูพัฒนาการที่ดีขึ้นในแต่ละคนมากว่าจะใช้ตัวเลขค่าเดียวมาทำนายนะครับ
เห็นไหมครับว่าเราสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ ความสัมพันธ์อันดีต่อคนไข้ ใช้ในการตรวจติดตามรักษาคนไข้ได้มากเทียบเท่าเทคโนโลยีสูงๆ สามารถทำได้กับทุกหน่วยงานเลยนะครับและถือเป็นตัวชี้วัดการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้เลยนะครับ เริ่มเป็น..หมอมือเปล่า..เข้าไปทุกที
สำหรับคนที่สนใจเพิ่มนะครับ มีคนทำการศึกษาเอาระยะทาวมาคำนวณเป็นอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2 max)และคำนวณเป็น metabolic equivalent time แต่บอกได้คร่าวๆนะครับ น้องๆที่สนใจหาอ่านเพิ่มได้ที่อ้างอิง
Burr JF, Bredin SS, Faktor MD, Warburton DE. The 6- minute walk test as a predictor of objectively measured aerobic fitness in healthy working-aged adults. Phys Sportsmed. 2011;39:133-9.
ที่มา www.thoracic.org/statements/resources/pfet/sixminute.pdf
www.rheumatology.org/I-Am-A/Rheumatologist/Research/Clinician-Researchers/Six-Minute-Walk-Test-SMWT
rehabmed.or.th/main/wp-content/uploads/2015/01/L-365.pdf
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น