คุณครับ..ญาติของคุณไตวายเฉียบพลัน..(หรือจะไตเสื่อม หยุดทำงาน ฯลฯ)
คำพูดที่ผมแจ้งบ่อยๆในผู้ป่วยไอซียู แทบจะทำให้ญาติเข่าอ่อนครับ คนไทยเชื่อว่าเมื่อไตวาย อีกไม่นานก็จะเสียชีวิต แต่ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผมเคยเขียนเรื่อง ไตเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลัน หรือ acute kidney injuries ไปแล้วเราจะมาต่อกันด้วยเรื่องของไตวายเฉียบพลันที่พบบ่อยสุดคือ acute tubular necrosis ท่อไตถูกทำลายเฉียบพลัน (สังเกตว่าใช้คำว่า วาย ลดลงครับ เพราะมันยังไม่วายจริงๆนั่นเอง)
ทำความเข้าใจง่ายๆ คิดถึงซิงค์น้ำ มีท่อจากสะดืออ่างไปที่ท่อน้ำทิ้งนะครับ นี่คือหน่วยไตของเรา อ่างน้ำคือหน่วยกรอง ท่อน้ำก็ท่อไต ท่อน้ำทิ้งคือออกไปเป็นปัสสาวะ เมื่อเราเทน้ำลงไป เหมือนเลือดที่มาที่ไต ก็จะถูกกรองผ่านไปที่ท่อไต ของเสียจะออกไปทางปัสสาวะ แต่ว่าเราก็ไม่ได้ทิ้งทั้งหมดนะครับ ท่อไตเราจะดูดสารดีๆกลับคืนเกือบ 80% และขับสารที่ส่วนเกินออกทางท่อไตนี่เอง
ไตวายแบบท่อไตถูกทำลายนี่คือ เมื่อแรงดันเลือดลดลง เลือดมาที่ไตน้อยลง น้ำที่เทลงอ่างน้อยลง ปัสสาวะก็น้อยลง ในขณะเดียวกัน เลือดที่คอยส่งอาหารและแก๊สให้เซลท่อไตก็ลดลงด้วย เซลท่อไตก็จะขาดอาหารและตายไป หลุดไปอุดที่ท่อไต เมื่อน้ำเทลงมาก็น้อย ท่อไตก็ตัน ปัสสาวะจึงออกน้อยลงไงครับ ของเสียต่างไก็เริ่มคั่งในเลือด เกิดเป็นอาการพิษจากของเสียและเกลือแร่ผิดปกตินั่นเอง
ขั้นตอนต่อไปเข้าสู่ระยะที่สอง คือ สมดุลแห่งการตัน น้ำล้น ของเสียคั่ง ระยะนี้ร่างกายจะรักษาตัวเองโดยกระบวนการอักเสบและสารต่างๆ เราอาจต้องช่วยให้เร็วขึ้น โดยการรักษาสาเหตุเช่น รักษาการติดเชื้อ ปรับความดันโลหิตให้ปกติให้เลือดมาเลี้ยงที่ไตมากขึ้น หรือถ้ามีสารพิษต่อไตก็เอาออกไปครับ
ในกรณีไตจะไม่ไหวแล้ว เราจะใช้การรักษาชดเชยแทนไตชั่วคราว รอให้การรักษาของร่างกายและของเราได้ผลก่อน โดยการรักษาชดเชยแทนไตที่เราเรียกกันว่า "การฟอกเลือด" หรือ "การล้างไต" ซึ่งจะเป็นวิธีใดแบบใด ขึ้นกับการพิจารณาของหมอครับ
เอาละ เมื่อผ่านระยะแรก ระยะสองมาแล้ว ถ้ายังอยู่รอด ประคับประคองร่างกายและรักษาสาเหตุได้ดี จะเริ่มเข้าสู่ระยะหาย เลือดเริ่มไหลมาที่ไตมากขึ้น แรงดันที่มาที่ซิงค์น้ำมากขึ้น มากพอจะไปดันให้เซลที่อุดๆอยู่หลุดออกไป ปัสสาวะจึงเริ่มกลับมาไหลดีอีกครั้ง แต่ว่าเซลท่อไตที่ตายไปนั้น ของใหม่จะงอกขึ้นมาชดชดเชยไม่ทัน ในระยะนี้จึงอาจไม่มีการดูดสารที่ดีกลับ และการขับสารส่วนเกินจะยังไม่ดี ต้องรอให้เซลงอกมาทำงานปกติก่อน จึงอาจพบปริมาณปัสสาวะมาก เกลือแร่ต่ำ ที่พบบ่อยคือ เกลือแร่โปตัสเซียมต่ำ
เมื่อผ่านไปก็จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติครับ ไม่ต้องฟอกเลือดล้างไตอีก เพราะไตจริง กลับมาทำงานแล้ว ร่างกายก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
บางทีการบาดเจ็บของท่อไต อาจไม่มีปัสสาวะลดลง เพราะเกิดจากการทำงานของเซลท่อไตที่ผิดปกติ ตายไม่มาก ไม่อุดตันมากนัก ถ้าแรงดันเลือดยังดีก็อาจจะเกิด ท่อไตถูกทำลายแบบปัสสาวะยังไหลดี (non-oliguric ATN) เช่นพิษจากยาปฏิชีวนะ aminoglycosides พิษจากยาฆ่าเชื้อรา amphotericin B หรือจากสารทึบแสงที่ใช้ในการฉายแสงเอ็กซเรย์ contrast media
กลุ่มนี้การสังเกตปริมาณปัสสาวะอาจไม่ช่วยไงครับ อาจต้องเจาะเลือดติดตามผลบ่อยๆ ในขณะยังใช้ยาอยู่
ที่พูดมาทั้งหมดเราไม่ได้ต้องการแก้ไขเลย อยากให้เน้นที่ระยะแรกหรือก่อนระยะแรกนะครับ ป้องกันก่อนจะเกิด ATN เพราะเราไม่รู้ว่าระยะสองระยะสามจะนานไหม
เราต้องเริ่มตั้งแต่ถ้าเสี่ยงเช่น ความดันตก มียาที่มีพิษต่อไต อายุมาก ถ้าเริ่มเสี่ยงเริ่มเฝ้าระวังเลย วัดปริมาณปัสสาวะ ติดตามผลเลือด การเปลี่ยนแปลงระดับครีอะตีนินมากกว่า 0.3 ในสองวัน หรือ เกิน 50%ในเจ็ดวัน ยังเป็นการตรวจหลัก ส่วนสารใหม่ๆก็ไวจริงในการตรวจหาการบาดเจ็บตั้งแต่แรกจะได้แก้ไขทัน แต่ยังไม่แพร่หลาย ได้แก่ urine NGAL, urine KIM-1 เป็นต้น
เมือ่เริมเห็นการบาดเจ็บให้รีบแก้ไขก่อนจะรุนแรงหรือต้องฟอกเลือด การดำเนินโรคจะไม่รุนแรง และเมื่อควบคุมปัจจัยก่อโรคดีๆ ไตวายเฉียบพลันก็หายเป็นปกติได้ ต้องเฝ้าต้องประเมิน เข้าใจการรักษาทั้งหมอ ทั้งคนไข้ ทั้งญาติครับ
ผมทำ link ของ AKI management KDIGO มาให้โหลดไปใช้ได้ 141 หน้าครับ ส่วนบทความนี้ผมเอามาจาก Davidson's Medicine เป็นหลักครับ
...ตอนนี้ไตวายของญาติคุณกลับมาเป็นปกติแล้วนะครับ ต้องขอบคุณที่ทุ่มเทไปพร้อมๆกับทีมของเรา...ประโยคที่แจ้งญาติตอนจบครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น