09 กรกฎาคม 2559

โรคเริมและข้อบ่งชี้การใช้ยา

โรคเริม ต้องกินยาไหม ต้องทายาไหม ทำไมเพื่อนไปหาที่รพ.นั้นบอกว่าไม่ต้องกิน คราวก่อนเป็นก็หายเองไม่เห็นต้องกินเลย พี่ข้างบ้านต้องนอนโรงบาลเลยนะแค่เริมนี่แหละ เอาล่ะวันนี้เอาให้ชัดๆ ใครต้องกิน ใครไม่ต้อง ใครต้องนอนโรงพยาบาล ข้อมูลจาก Harrison, Sanford, IDSA แต่ต้องเข้าใจนะครับ แนวทางคือแนวทาง แต่ละคนแต่ละหมอ ก็ได้รับการรักษาที่ต่างกันตามสถานการณ์ที่เหมาะสมต่างกัน
   โรคเริมที่จะกล่าวถึงหลักๆจะเป็นโรคเริมที่เกิดที่ริมฝีปากและช่องปาก อีกประเภทคือที่เกิดที่เยื่อเมือกอวัยวะเพศและทวารหนัก อดีตเราจะแบ่งเป็นเริมชนิดที่หนึ่งและเริมชนิดที่สอง ตอนนี้โรคจากเริมทั่งสองชนิดปนกันหมดไปแล้วล่ะครับ

1. อย่างแรก โรคเริมที่อวัยวะภายใน เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หลอดอาหาร ปอด ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียลชัดๆว่าให้ยาหรือไม่ให้ยาอย่างไหนดีกว่ากัน เพราะจำนวนผู้ป่วยไม่มากและการตรวจยืนยันเชื้อทำได้ยาก และนำให้ทำการรักษาด้วยยา acyclovir แบบหยดทางหลอดเลือดดำทุกแปดชั่วโมง ซึ่งต้องนอนโรงพยาบาลแน่ๆครับ

2. อย่างที่สอง ถ้าท่านไม่เคยเป็นโรคเริมมาก่อนเลย นี่คือครั้งแรกในชีวิตทั้งการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศหรือที่ปาก ท่านควรได้รับยาครับ การให้ยานั้นเพื่อลดอาการและลดระยะเวลาที่เป็น ใช้ยาชื่อ acyclovir หรือ valacyclovir  5-10 วัน

3. สำหรับท่านที่เคยเป็นมาแล้ว และกลับมาเป็นซ้ำ แนะนำให้ใช้ยาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ลถ้าจะให้ดีก็ก่อนมีตุ่มขึ้นเลยครับ แหมแต่คงจะยาก เอาแต่แสบๆคันๆแดงๆ เริ่มการรักษาได้เลย ถ้าปล่อยจนตุ่มใสขึ้นสักสองสามวัน การรักษาอาจไม่เกิดประโยชน์มากนักครับ

  3.1 เริมที่ปาก ให้ยาเพียงครั้งเดียววันเดียวตั้งแต่ตุ่มเริ่มจะขึ้น ให้ valacyclovir 2กรัม (4เม็ด) ส่วนการใช้ครีมทานั้น ก็จะสามารถทำให้หายเร็วขึ้นได้นะครับ acyclocir cream แต่จะไม่ดีเท่าการให้ยากินข้างต้น
  3.2 เริมที่อวัยวะเพศ เช่นกันครับ ให้ยาตั้งแต่เริ่มจะมีตุ่ม หรือเริ่มแสบๆคันๆ แต่จะให้ยานานกว่าเริมที่ปากสักเล็กน้อย คือใช้เวลา 3 วันครับ ใช้ acyclovir ขนาด 800 มิลลิกรัมวันละสามครั้ง หรือ valacyclovir ขนาด 500 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง

4. การให้ยาเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ เนื่องจากการให้ยาต้องให้นาน ยังไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าต้องให้นานเท่าใด มีการศึกษายาวนานถึงหกปี ให้ยาวันละครั้งนี้แหละครับ สามารถลดอัตราการเกิดซ้ำได้ 70-80% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมาคุยกันถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วยว่าคุ้มค่ากับการกินยาทุกวันหรือไม่ บางทีเป็นบ่อยก็จริงแต่เป็นนิดเดียว สองวันหาย การกินยาตลอดอาจจะไม่คุ้มค่าก็ได้ จึงมักจะเลือกให้กับผู้ป่วยที่เป็นบ่อยๆมาก มากกว่า 9 ครั้งต่อปี ผมไม่พบจริงๆนะครับว่าทำไมต้องเป็นเลข 9
  ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ต้องป้องกันคือผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เน้นๆที่สองกลุ่ม คือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะมาครับ
  ใช้ยา acyclovir 400-800 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง หรือ valacyclovir 500 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง โดยให้ยาไปสักหนึ่งปี แล้วค่อยคุยกันต่อว่าจะให้ต่อหรือไม่
  ส่วนการป้องกันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ให้ 30 วันหลังปลูกถ่ายเสร็จ
ข้อ 4 นี้มีรายละเอียดปลีกย่อยและยาหลากหลาย ผมสรุปมาแค่คร่าวๆ ใครสนใจต้องไปค้นเพิ่มครับ

5. การผ่าตัดบางอย่าง ต้องมีการให้ยาเพื่อการป้องกัน ได้แก่ การใช้เลเซอร์ผิวหนัง การผ่าตัดสันหลังส่วนเอว การผ่าตัดเส้นประสาทสมองคู่ที่ห้า ควรให้ยาก่อนผ่าตัด 48 ชั่วโมงและต่อไปจนหลังผ่าตัดอีกประมาณ 5 วัน ใช้ยา acyclovir ขนาด 800 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง หรือ valacyclovir ขนาด 500 มิลลิกรัมวันละสองครั้ง

การรักษาใดๆทั้ง 5 ข้อถ้าอาการรุนแรงอาจให้ยาทางหลอดเลือดแทนครับ ที่เราไม่ค่อยนิยมให้ยา acyclovir ทางหลอดเลือดเพราะมีผลข้างเคียงที่สำคัญอันหนึ่งคือ อาจมีผลึกตกตะกอนที่ท่อไต เกิดการอุดกั้นที่ท่อไตเล็กๆ เกิดไตเสื่อมเฉียบพลันได้ จึงต้องให้สารน้ำให้เพียงพอเสมอครับ อีข้อคือ การใช้ยา valacyclovir ขนาดสูงมีรายงานการเกิดภาวะ thrombotic microangiopathy ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม